Why Drawing, How Creative

สันติ ลอรัชวี
มิถุนายน 2564
บทนำนิทรรศการ Creative Drawing

‘การวาด’ (Drawing) เป็นรูปแบบการแสดงออกของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่ง โดยเชื่อกันว่าการวาดถูกใช้เป็นรูปแบบในการสื่อสารก่อนการประดิษฐ์ภาษาเขียน ดังจะเห็นได้จากภาพเขียนผนังถ้ำเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว จนวิวัฒน์มาสู่ระบบการเขียนเชิงภาษาในที่สุด

การวาดมักเป็นการสำรวจ โดยเน้นที่การสังเกต การแก้ปัญหา และการจัดองค์ประกอบ การวาดยังมักถูกใช้ในการเตรียมตัวสำหรับการวาดภาพ (ที่หมายถึงภาพวาดที่ลงสีหรือมีความสมบูรณ์มากขึ้น) ยังรวมถึงการวาดแผนภูมิจากการสังเกต อันเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างในปี ค.ศ. 1609 กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของดาวศุกร์และจุดบนดวงอาทิตย์จากกล้องโทรทรรศน์ผ่านภาพวาด และในปี 1924 นักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน อัลเฟรด เวเกอเนอร์ (Alfred Wegener) ใช้ภาพวาดเพื่อแสดงความเปลี่ยนแปลงของทวีป ในความเข้าใจทั่วไปการวาดมักถูกใช้เพื่อแสดงความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในอาณาเขตของศิลปะ การวาดจึงถือเป็นพื้นฐานสำหรับการฝึกศิลปะ และยังถูกใช้ในการคิดและการค้นคว้า โดยทำหน้าที่เป็นสื่อการศึกษาในขณะที่ศิลปินกำลังเตรียมทำงานอีกด้วย ประกอบกับการปรากฏขึ้นของภาพถ่ายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลำดับชั้นของศิลปะ การถ่ายภาพกลายเป็นทางเลือกแทนการวาดภาพอันเป็นวิธีการแสดงปรากฏการณ์ทางสายตาได้อย่างแม่นยำ และการฝึกวาดภาพแบบเดิมๆ ถูกให้ความสำคัญแคบลงจนดูกลายเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศิลปินเท่านั้น 

หากสังเกตจะพบว่าเด็กเกือบทุกคนจะชอบวาดขีดเขียน และมีความเป็นอิสระต่อสิ่งที่วาด แต่เราก็มักจะพบว่าผู้คนทั่วไปจะห่างหายจากการฝึกฝนและใช้งานทักษะนี้เมื่อเติบโตขึ้น ยกเว้นผู้ที่มีอาชีพที่ยังเกี่ยวข้องกับทักษะนี้โดยตรง และเมื่อทีม PS±D ร่วมกันออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ด้านการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสำหรับผู้คนในวงที่กว้างออกไป

ทักษะที่พบว่ามีความสำคัญมากต่อกระบวนการออกแบบ ก็คือ ‘การวาด’ (drawing) ที่นับเป็นกิจกรรมที่เสริมทักษะการสร้างความสัมพันธ์ของการใช้สองตา หนึ่งสมอง และสองมือ ได้อย่างสอดคล้อง บ่อยครั้งเมื่อเรามีความคิดดีๆ เรามักเริ่มต้นด้วยการสังเกตุสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบละเอียดมากกว่าแค่การมองผ่านๆ เราเริ่มมองไปที่แสง-เงา, สี, พื้นผิว, สี, รูปทรง, องค์ประกอบ ความทึบตัน ช่องว่าง และอาจเลยไปถึงที่มาความหมาย รวมถึงบริบทที่แวดล้อมของสิ่งนั้น

จากนั้นก็มี ‘การวาด’ เก็บไว้กันลืม 
บางอย่างก็วาดได้ให้คล้ายกับที่เห็นหรือที่คิด 
บางทีก็วาดให้เราพอเข้าใจว่าต้องการบันทึกอะไร 
เช่น รูปทรงนี้น่าสนใจ ก็ร่างเก็บไว้ 
อาจโน้ตเป็นคำหรือข้อความเพิ่มเติมกันลืมเมื่อกลับมาดูภายหลัง 
บางคนก็เขียนไว้เป็นแผนภูมิเพื่อทำความเข้าใจไปด้วย
หรืออาจวาดเพื่อช่วยให้คนอื่นเห็นภาพสิ่งที่เราคิด
รวมถึงวาดเพื่อความพึงใจเป็นงานอดิเรก ฯลฯ
จึงมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ผู้คนวาด

ความคิดหลายต่อหลายความคิด จึงเริ่มต้นมาจากการที่มือเราขีดเขียนอะไรสักอย่าง
‘การวาด’ จึงเป็นเรื่องของ ‘การคิดเชิงภาพ (Visual Thinking)’ แดน โรม (Dan Roam) ผู้เขียนหนังสือ The back of the napkin ให้คำอธิบายถึงการคิดเชิงภาพ หมายถึงการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการมองเห็นโดยธรรมชาติของเรา ทั้งด้วยตาของเราและด้วยตาใจ (ตาที่สาม) ของเรา เพื่อที่จะสำรวจความคิดที่เรายังมองไม่เห็น และพัฒนาความคิดเหล่านั้นโดยสัญชาตญาณอย่างรวดเร็ว แล้วแชร์ความคิดเหล่านั้นกับคนอื่นๆ ในแบบที่พวกเขารับได้ง่าย

 PS±D Creative Drawing Club เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบคลับที่ดำเนินการโดย PRACTICAL school of design เริ่มครั้งแรกในปี 2564 โดยมีอาจารย์ ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ เป็น ‘กระบวนกร’ ในการเรียนรู้ ซึ่งจะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของเข้าเข้าร่วม ณ PS±D Space

Dan Roam, The back of the napkin
“Visual thinking means taking advantage of our innate ability to see—
both with our eyes and with our mind’s eye—
in order to discover ideas that are otherwise invisible, 
develop those ideas quickly and intuitively,
and then share those ideas with other people in a way that they simply get.”

ในมุมมองของ PS±D เราจึงให้ความสำคัญกับ ‘การวาด’ ในฐานะทักษะพื้นฐานที่จะพัฒนากระบวนการคิดเชิงภาพ (visual thinking)  เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เรามองได้ดีขึ้น (how to look better)
เราอ่านได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น (how to see sharper)
และคิดต่อยอดได้กว้างไกลมากขึ้น (how to imagine further)
ดังนั้นเราจึงสามารถพัฒนาทักษะการวาดไปสู่การเป็น visual thinker ก็ได้ 
ด้วยการใช้เครื่องมือหลัก (built-in tools) ได้แก่ ตา (eyes) ความคิด (mind’s eye) และมือ (hands) ดังที่แดน โรม เรียกว่า visual thinking tools ส่วนกระดาษ ปากกา หรือวัสดุอื่นๆ ก็จัดให้เป็นอุปกรณ์เสริม (accessories)

การมองได้ดีขึ้น อาจทำให้เรามีการสังเกตุรายละเอียดต่างๆ  (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ทำให้เราเริ่มรับชุดข้อมูลในการเห็นมากขึ้น เช่น การเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้กันมีความเกี่ยวข้องกัน ดวงตาของเราสังเกตเห็นความแตกต่างของสีในทันทีและถือว่าการจัดกลุ่มตามสีที่เหมือนกัน การรับรู้เรื่องขนาด-สัดส่วน ทิศทาง รูปทรง และแสงเงา เป็นต้น ลักษณะการมองนี้จะเป็นตัวชี้นำที่ช่วยให้เราระบุได้อย่างรวดเร็วว่าเรากำลังดูอะไร หรืออะไรที่เราต้องการมองเห็น และการเห็น (seeing) ก็อาจจำแนกวิถีการเห็นออกมาได้ 6 ลักษณะ (ใน framework เดียวกัน) ได้แก่

  1. เห็นวัตถุ / สิ่ง (object) — the who & the what
  2. เห็นปริมาณ (quantities) — the how many and how much
  3. เห็นตำแหน่งในพื้นที่ (position in space) — the where
  4. เห็นตำแหน่งในเวลา (position in time) — the when
  5. เห็นเหตุ ปัจจัย และผลกระทบ (influence and cause and effect) — the how
  6. เห็นความเชื่อมโยงและรับรู้บางอย่างจากสิ่งที่เห็น (all of this come together and knew something about our scene) — the why

และเมื่อเราพูดถึงความคิดต่อยอด เราอาจนึกถึงคำว่า ‘จินตนาการ’ ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นกระบวนการเชิงอุบัติที่เกิดจากความว่างเปล่า เพราะผลลัพธ์ที่เราแสวงหาจากการจินตนาการมักจะเป็นบางสิ่งที่ไม่มีอยู่ตรงหน้าหรือในความคิดขณะนั้น และวิธีที่ดีที่สุดในการจะมองเห็นบางสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ก็คือการมองเห็นให้ได้ด้วยตาของเรา

มองเห็นอย่างเข้าใจถี่ถ้วนถ่องแท้ (insight) มองเห็นด้วยความคิดที่จุดประกายเรา (inspiration) และมองเห็นมันด้วยสัญชาตญาณที่เกิดจากการฝึกฝน (intuition) ซึ่งในที่สุด ‘ภาพจินตนาการ’ (imagination) จะปรากฏในบริเวณ ‘พื้นที่ร่วมของการมองเห็น’ ทั้งสามแบบที่กล่าวมา

จากที่กล่าวมา…
“การวาดทำให้คุณเห็นสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น และยังคงชัดเจนขึ้นไปอีก 
ภาพกำลังส่งผ่านคุณในทางสรีรวิทยาเข้าไปในสมองของคุณ ไปยังความทรงจำของคุณ – 

จากที่ที่มันอยู่ส่งผ่านโดยมือของคุณ” ดังนั้นการมองเห็นสิ่งต่างๆ สำหรับเดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney) จึงเป็นมากกว่าการรับข้อมูลภาพธรรมดาๆ เพราะมนุษย์เราดำรงอยู่ในพื้นที่และเวลา (space & time) ไปพร้อมๆ กับการมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาเห็น ทั้งทางกายภาพและทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง ภาพจากผนังถ้ำลาส์โกซ์ (Lascaux) มาสู่ภาพที่วาดด้วย iPad ก็ไม่ได้เปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานของฮอคนีย์ไปแต่อย่างใด

ดังนั้นกระบวนการบันทึกการสังเกตผ่าน ‘การวาด’ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มพูนทักษะการรับรู้ของเราเท่านั้น แต่ยังพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงสายตาอีกด้วย เป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อแสดงความคิดได้

การทำงานผ่าน ‘การวาด’ จะทำให้เราตระหนักถึงรายละเอียดที่ดีของเรื่องที่กำลังทำหรือกำลังศึกษา เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ โครงสร้างหรือแบบแผนบางอย่างอาจปรากฏขึ้นโดยที่คุณไม่เคยสังเกตมาก่อน และเมื่อเราตระหนักถึงรายละเอียดและความแตกต่างเล็กน้อยในโลกรอบตัวได้มากขึ้น เราก็จะสามารถมองเห็นและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน การวาดจึงเป็นวิธีการที่สามารถนำเราไปพบกับความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่ทุกคนเคยมีและสามารถกลับมาฝึกฝนใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ได้ การวาดจึงเปรียบเหมือนศิลปะในการบันทึกประสบการณ์ต่อสิ่งที่ไม่มีใครไม่เคยพบเห็นมาก่อน (ในแบบของเรา) มันเป็นการพิจารณา บันทึก วิพากษ์ และตอบสนอง ต่อสิ่งที่เป็นทั้งเรื่องธรรมดาสามัญและสิ่งที่ไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างอิสระและสร้างสรรค์”

สุดท้ายนี้… นึกถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นใน PS±D Creative Drawing Club— 
“การวาดอย่างสร้างสรรค์ก็คล้ายภาพยนตร์โร้ดมูฟวี่”

 จากหนังสือ A bigger message: Conversations with David Hockney โดย Martin Gayford กล่าวว่า 

 เรีบเรียงใหม่จากคำกล่าวของอาจารย์ ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ

เราไม่รู้ว่าจะได้เจออะไร พบใคร หรือจุดหมายอยู่ที่ไหนตามที่ใจคิดหรือไม่ หากแต่เกิดการค้นหา พบเจอ และเข้าใจบางเสี้ยวมุมของชีวิตที่อยู่ภายในและที่แวดล้อมตัวมากยิ่งขึ้น กระบวนการนี้… จะทำให้เราเปลี่ยนไปจากเราคนเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญ ‘อย่างเป็นกันเอง’

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG