When Everybody Designs

เมื่อเราทุกคนต้องออกแบบ
สันติ ลอรัชวี

PRACTICAL school of design จะมาชวนคิดเกี่ยวกับการออกแบบในฐานะกิจกรรมอันเป็นธรรมชาติของเราทุกคน ถึงแม้เราจะไม่ได้มีอาชีพนักออกแบบ แต่เราทุกคนก็ล้วนกำลังออกแบบแทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผ่านบท Prelude ของหนังสือเล่มสำคัญ The Design Way: Intentional Change in an Unpredictable World  โดย Harold G. Nelson and Erik Stolterman

ผมเชื่อว่าหลายคนที่กำลังรับอ่านอยู่นี้เป็นนักออกแบบ
และหลายท่านก็คงไม่ได้เป็น
อาชีพนักออกแบบ…เมื่อเปรียบกับอาชีพอื่นๆนักออกแบบเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างใหม่
หากแต่การออกแบบเกิดขึ้นก่อนอาชีพนักออกแบบมายาวนาน
เกิดขึ้นก่อนเผ่าพันธ์มนุษย์ด้วยซ้ำไป

±
What is Design?
การออกแบบในความหมายที่กว้างที่สุด เริ่มกว่า 2.5 ล้านปี ก่อนมนุษย์จะเริ่มเดินตัวตรง
เมื่อ โฮโม แฮบิลิส ผลิตเครื่องมือหินกะเทาะ ไว้ใช้ตัดและสับ
300,000 ปีก่อนเริ่มใช้ไฟในกิจวัตรประจำวัน 
40,000 ปีก่อน เราเริ่มผลิตเครื่องมือเฉพาะทาง
10,000 ปีก่อน เกิดการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมในเมโสโปเตเมีย
สถาปัตยกรรมภายในและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็เกิดขึ้นในยุคเดียวกัน
อีก 5,000 ปีต่อมา การออกแบบภาพสัญลักษณ์และตัวอักษรก็เกิดขึ้นในสุเมเรียน

“การออกแบบ” นับเป็นพัฒนาการสำคัญด้านหนึ่งของมนุษยชาติที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง
การออกแบบจึงเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ 
ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันเกิดขึ้นจากการสังเกต คิดค้น แก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาจากสิ่งเดิม 
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิตต่อร่างกายตนเองและสภาพแวดล้อม 
การใช้สอยและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน   
รวมถึงการตอบสนองด้านสุนทรียะ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์

การออกแบบจึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
มาสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มกำกับชื่อเรียกของบทบาทหน้าที่และอาชีพของตนเอง 
จนในปัจจุบันวิชาชีพนักออกแบบถูกแบ่งให้แตกแขนงออกไป
ตามบริบทของทักษะและลักษณะงานที่แตกต่างกัน

คำว่า Design เข้ามาสู่ภาษาอังกฤษในช่วง คศ. 16 (1548) ในรูปของคำกริยา
พจนานุกรม Merriam Webster’s Collegiate ให้นิยามคำกริยานี้ว่า 
“คิดและวางแผนในใจ”
“ตั้งจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจง”
“คิดค้นเพื่อทำหน้าที่หรือเพื่อจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะเจาะจง”

ต่อมามีการใช้ในรูปของคำนาม ซึ่งหมายถึง
จุดมุ่งหมายโดยเฉพาะเจาะจง / การวางแผน  
และ / โครงร่างหรือแผนการในการสร้างหรือบรรลุผลงานหรือเป้าหมาย

จะเห็นได้ว่าการออกแบบสามารถเชื่อมโยงกลับไปหา “จุดมุ่งหมาย (Purpose)” 
ไม่ว่าเราจะใช้ในความหมายใด 
การวางแผน ตัวแผน การทำให้บรรลุ ล้วนแล้วแต่ต้องสัมพันธ์อยู่กับจุดมุ่งหมายหนึ่งๆ ทั้งสิ้น

https://direct.mit.edu/books/book/3398/The-Design-WayIntentional-Change-in-an

อาจกล่าวได้ว่า “จุดมุ่งหมาย” คือหัวใจสำคัญของการออกแบบ
ที่ทำให้แตกต่างออกจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์

สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า
“มนุษย์ไม่ได้ค้นพบไฟแต่เราออกแบบมัน” (Nelson & Stolterman) 
ที่แสดงถึงเจตจำนงค์การคิดค้นวิธีการสร้างไฟ
เมื่อมีความต้องการหรือมีเป้าประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง
ทำให้การสร้างไฟเพื่อใช้งานเมื่อต้องการแตกต่างจากการพบไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

มาถึงปัจจุบันที่อาชีพนักออกแบบเกิดขึ้นเพียงแค่ 200 ปีที่ผ่านมา
พวกเราไม่น้อยที่คิดว่าการออกแบบนั้นเป็นทักษะะที่ถูกจำกัดไว้แค่คนที่มีอาชีพออกแบบสร้างสรรค์ หรือสายศิลป์เท่านั้น แต่หากย้อนกลับไปตามที่เกริ่นมาแล้วนั้น การออกแบบนั้นเป็นเหทือน “กิจกรรมของมนุษย์ทุกคน”
ดีไซน์เป็นศักยภาพที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมาแต่ตั้งเดิม เราทุกคนจึงล้วนกำลังออกแบบแทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

±
The Design Way
ช่วงการระบาดของ Covid19 กิจกรรมหนึ่งที่พวกเรา Practical ทำกันเพื่อเตรียมแนวทางของโรงเรียนก็คือ การอ่านหนังสือเล่มหนึ่งด้วยกัน ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่ผมจะมาเล่าในวันนี้ ถึงบท Prelude ของหนังสือ The Design Way โดย Harold G. Nelson and Erik Stolterman อันเป็นเล่มสำคัญที่ขยับมุมมองของผมต่อการออกแบบอย่างมาก กล่าวว่า design นั้นจัดว่าเป็น the first tradition ของมนุษย์ อาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานอันหนึ่งเลยที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างออกจากสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น เป็นสัญชาตญาณที่เรารับรู้ สำรวจ และตอบสนองต่อโลกรอบตัว เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของเรา

To design the world to be what we would like it to be
ดีไซน์ จึงเป็นศักยภาพที่ตอบสนองความต้องการของเราจนเกิดความรู้และทักษะมากมาย มนุษย์สร้างเจตนา เงื่อนไข ต่างๆ ขึ้นมา จนนำไปสู่การสร้างสรรค์เครื่องมือ สิ่งประดิษฐ์ และระบบต่างๆ ขึ้นมาที่อำนวยความสะดวกต่อเรา และแผ่ขยายความเป็นไปได้มากมายผ่านวิวัฒนาการออกแบบมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะมีอาชีพนักออกแบบเสียอีก
และด้วยนิยามประมาณนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางปัญญานี้ จะไม่สามารถบรรลุผลได้ตามลำพัง หากแต่ต้องอาศัยความรู้แขนงอื่นๆ มาประสานรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ เศรษฐศาสตร์  หรือ เทคโนโลยี

จากที่เล่ามา
ดีไซน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเราทุกคน
แต่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังเห็นว่า ดีไซน์ยังไม่ได้ถูกจัดการองค์ความรู้ให้ก้าวหน้ามากพอ

แม้ทุกวันนี้จะมี Design Thinking เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเสริมสร้างทักษะการออกแบบของผู้คน แต่ในตอนนั้นเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า ดีไซน์ก็ยังเป็นสิ่งล่องหนไร้ตัวตนอย่างน่าตกใจ เพราะยังไม่ได้รับการตระหนักอย่างจริงจังในวงกว้าง

และหนังสือเล่มนี้ก็มีความมุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้!

The design way ไม่ใช่หนังสือที่เสนอวิธีการออกแบบหรือแนวทางเชิงปฏิบัติ
ไม่ได้เป็นหนังสือเฉพาะสาขาสำหรับนักออกแบบอาชีพหรือนักเรียนออกแบบ

แต่เป็นเรื่องของ “วิถี” การเข้าถึงเงื่อนไขหรือสภาวะความเป็นมนุษย์
ภายใต้ฐานคิดที่ว่า ดีไซน์เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นมนุษย์
ด้วยการอ้าแขนเจตนาเปิดรับความเป็นไปได้ทั้งมวล
จากทางเลือกอันท้าทายและซับซ้อนอย่างแม่นยำ

นี่คือหนังสือที่พูดถึง… เราจะเข้าใจดีไซน์ได้อย่างไร?

ผู้เขียนได้แสดงเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการกระตุ้นและส่งเสริมวัฒนธรรมการออกแบบเข้าไปในทุกกิจกรรมของผู้คน และควรเป็นการออกแบบที่นำไปใช้งานจริงได้ (viable design) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการออกแบบนี้ อันจะช่วยในการนิยาม ขยับขยายแนวคิดและขอบเขตของการออกแบบ รวมถึงความสามารถในการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะต่อกิจกรรมการออกแบบหนึ่งๆ ได้อย่างชัดเจน

±
Design vs Creativity
การยกตัวอย่างที่น่าสนใจในบทนี้ เช่น คนมักคิดว่าดีไซน์นั้นเป็นรูปแบบหรือผลลัพธ์ของความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ไม่ทราบมีใครคิดแบบนี้มั้ยครับ?

ในเล่มบอกว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้น คือ กิจกรรมที่ทำให้การออกแบบมีคุณสมบัติที่พิเศษขึ้น
ซึ่งมันก็มีความสำคัญในลักษณะนี้กับศิลปะ หรือ วิทยาศาสตร์ เช่นกัน
แม้ว่า creativity จะมีผล มีอิทธิพลต่อการออกแบบ
แต่การออกแบบการมีของเขตที่กว้างออกไปมากกว่านั้น
มันครอบคลุมไม่เพียงแต่นิยามของความคิดสร้างสรรค์
แต่ยังรวมไปถึงความคิดเชิงนวัตกรรม การคิดเชิงผลผลิต และการคิดเชิงอื่นๆ อีกด้วย
ในเล่มอธิบายว่า ความคิดเชิงนวัตกรรม และ การคิดเชิงผลผลิต นั้นจะมุ่งตอบสนองไปยังโลกแห่งความเป็นจริง ในขณะที่คุณสมบัติในการสร้างสรรค์นั้นอาจกระทำได้ด้วยเหตุผลของตัวมันเอง
แต่ทั้งหมดก็ล้วนอยู่ในของเขตของการออกแบบ 
นั่นเป็นตัวอย่างในการจัดระเบียบต่อการทำความเข้าใจการออกแบบใหม่
ว่าการออกแบบถูกตระหนักผ่านการแสดงออกและเชื่อมอุดมคติเข้ากับแนวทางปฏิบัติ

มันจึงไม่จำเป็นต้องครีเอทีฟเสมอไป
และอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงเสมอเช่นกัน
การออกแบบจึงเป็นส่วนผสมของการใช้เหตุผล การมีอุดมคติ และการแสวงหาแนวทางปฏิบัติ 
ดังนั้นเพียงแค่แนวคิดเชิงเดี่ยวอย่าง creativity จึงไม่สามารถฉายภาพอาณาเขตที่กว่างใหญ่ของการออกแบบได้หมดนั่นเอง

±
ดีไซน์กับภาวะความเป็นผู้นำ
การออกแบบยังเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผล (effective & efficient)
หมายถึงการนำพาบุคคลหรือกลุ่มคนไปยังตำแหน่งที่ตั้งใหม่ๆ 
และด้วยแง่มุมนี้ ดีไซน์จึงเกี่ยวโยงกับภาวะความเป็นผู้นำอีกด้วย

ภาวะผู้นำนั้น มักถูกเรียกหาการกระทำ
เป็นความสามารถในการลงมือทำ ภายใต้การจำกัดของ…
ทรัพยากรและเวลา สภาพแวดล้อม
ความต้องการและข้อเรียกร้องต่างๆ ของสมาชิกในสังคม
สภาวะความเป็นผู้นำจึงต้องการใช้ความคิด จินตนาการ ทักษะการประยุกต์ และการสื่อสาร
มาตอบสนองให้สอดรับกับผู้คนและบริบทที่แวดล้อม

คิดแล้วน่าหดหู่ที่เราไม่เห็นคุณสมบัตินี้เลยในตัวผู้นำบางประเทศ

ผู้เขียนบอกว่าภารกิจเชิงออกแบบดังกล่าวนี้เรียกว่า
ความเป็นเลิศในการตัดสินใจ (good judgement)
ไม่ใช่เป็นแค่การแก้ปัญหา (problem solving) อย่างที่เราชอบพูดกันเท่านั้น
เพราะ good judgement นั้นต้องการการแก้ปัญหาที่ดีเยี่ยม 
และยังเป็นทางออกที่แสนประทับใจอีกด้วย
ในขณะที่ solution เป็นเพียงแค่ทางออกของปัญหาเท่านั้น

Designer กับ leader จึงไม่ได้แตกต่างกันมากนักในมุมมองนี้
และสำหรับท่านที่เป็นผู้นำหรือจะลองพัฒนาความเป็นผู้นำอยู่
สิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือการดึงความเป็นนักออกแบบในตัวเองออกมา
ช่วยในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และวิธีการผ่านกระบวนการเชิงออกแบบ
เพื่อนำไปสู่ good judgement ดังที่กล่าวมาครับ

±
ท้ายนี้…
หนังสือเล่มนี้จึงเขียนมาเพื่อทุกคน
ในโลกที่เราทุกคนล้วนต้องออกแบบ (มากขึ้น)
ให้ทุกคนมีวิถีการออกแบบของตนเอง
และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการออกแบบขึ้นมา
เพื่อแสวงหาแนวทางการดำเนินชีวิตของตัวเราแต่ละคน
รวมถึงการมีส่วนร่วมต่อสภาพแวดล้อมและสังคมที่เราทุกคนสังกัดให้มีคุณภาพ 
มีความก้าวหน้า มีเสรีภาพ และ ความเสมอภาค

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG