Round Table: EP14, นักออกแบบสาธารณะ
บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564
ห้องเรียนกับคำถามคงจะเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อาจารย์ถามกลับมายังผู้เรียน หรือ ผู้เรียนถามกลับไปยังอาจารย์ผู้สอน ยิ่งกับวิชาที่ซับซ้อนแล้วการได้ถามในประเด็นที่เราสงสัย หากได้คำตอบก็ช่วยคลายข้อสงสัยของเราลงไปได้บ้าง
แน่นอนว่าไม่ใช่กับทุกห้องเรียนที่จะช่วยให้เราคลายข้อสงสัยในสิ่งที่เราตั้งคำถาม
บางคำถามในห้องเรียนที่ขึ้นชื่อว่าโลกกว้างก็ไม่ได้มีคำตอบให้เราเสมอไป
และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางคำถามกลับนำมาสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น และก็มีอีกหลายครั้งเช่นกันที่การออกแบบถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาบางสิ่งบางอย่างให้สามารถช่วยแก้ปัญหาหรือเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับสังคมโดยรอบ
โดยนิยามการออกแบบของหลากหลายคนก็มีจุดเริ่มต้นจากแบบเรียนอย่างที่เคยร่ำเรียนกันมา ที่จำเป็นต้องออกแบบให้ครบตรงตามหลักเกณฑ์ หรือให้ตรงตามหลักการออกแบบเบื้องต้นทั่วไป หากแต่ในบางครั้ง ประสบการณ์และการเผชิญหน้ากับผู้คนก็ทำให้การนิยามของตนเองเกี่ยวกับ คำว่า การออกแบบ ถูกปรับเปลี่ยนความหมายไปจากเดิม
กับ อ๊อฟ – เตชิต จิโรภาสโกศล แห่งกลุ่มสาธารณะ ที่ถูกประสบการณ์และผู้คนหล่อหลอมปรับเปลี่ยนนิยามการออกแบบ จากแต่ก่อนที่มองด้วยแว่นเดิม ๆ ของหลักการออกแบบทั่วไปที่เป็นดั่งสูตรสำเร็จของวงการออกแบบ เป็นนักออกแบบที่ไม่ค่อยน่ารัก ยึดติดกับคุณค่าที่เป็นอุดมคติ เพื่อทำให้ตัวเขามีตัวตน ทำให้มีคุณค่า กลับมาครุ่นคิดถึงนิยามของการออกแบบมากขึ้น จนเปลี่ยนเป็นกระบวนการออกแบบที่ไม่ยึดถือ ยึดติดที่คุณค่าใดคุณค่าหนึ่งและให้คนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอน รวมไปถึงการออกแบบที่สามารถปรับปรุงตามความคิดเห็นที่เข้ามามากกว่าที่ต้องเป็นไปตามหลักการ มิใช่การยึดติดกับหลักการใช้งานตามตำรับตำรา
นอกจากประสบการณ์ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนนิยามการออกแบบแล้ว ประสบการณ์การทำงานก็หล่อหลอมให้ต้องหาแนวร่วมและวิธีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับผู้คนในชุมชนอีกด้วย
อ๊อฟ นิยามการทำงานของตัวเองในช่วงปัจจุบันว่าเป็น กระบวนกร หรือ facilitator ในภาษาอังกฤษที่หมายถึง ผู้จัดการและผู้ควบคุมการทำงานในงานหนึ่งให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ กระบวนกรเลยเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องคอยตั้งคำถาม หาคำตอบ รับฟัง เฝ้าดูปฏิกิริยา การแสดงออกและอารมณ์ของผู้เข้าร่วมกระบวนการ
การตั้งคำถามของเขาเองก็ไม่ได้มีรูปแบบที่สำเร็จตายตัวที่ต้องเป็นดั่งตำราเสมอไป แต่กลับต้องตั้งคำถามด้วยความตั้งใจ (ที่จะรับฟังคำตอบ) และความเข้าใจ (ในความรู้สึกของผู้ที่จะถูกถาม) เพื่อที่จะไม่ใช่แค่การถามตอบที่เป็นดั่งสูตรสำเร็จทั่วๆ ไป
เมื่อเราหัดที่จะตั้งคำถามและรับฟังคำตอบด้วยความรู้สึกที่เข้าใจนั้นเอง จะช่วยให้เราเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะนำเอากระบวนการออกแบบมาปรับใช้งานได้ง่ายมากขึ้น แต่หากเราเฝ้าแต่จะถาม โยนกันไปกันมาโดยขาดการรับฟัง สังคมเราคงจะพัฒนาลุล่วงหน้าไปได้ไม่เท่าไร ต่างคนต่างเดินไปตามทางที่ตนเชื่อ กลับกันหากเราเอาแต่รับฟังโดยไม่มีความเฉลียวใจ ไม่ตั้งคำถามข้อสงสัย เราคงจะเชื่องเชื่อฟังโดยง่าย สังคมคงจะหยุดนิ่งอยู่กับที่
ดังนั้น หากเราไม่ตั้งคำถามและไม่รับฟัง เราก็คงจะไม่สามารถออกแบบสังคมให้ดีขึ้นได้
คำถามและการรับฟังจึงไม่ใช่แค่สองสิ่งที่จะอยู่คู่กับการทำงานเท่านั้น หากแต่ทั้งสองสิ่งนี้กลับจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเรา และจำเป็นต่อการออกแบบสิ่งต่างๆ ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวังแห่งนี้อีกด้วย
การออกแบบให้ดี บางครั้งก็เกิดจากการรับฟังและการตั้งคำถามนั่นเอง