Review : EP5 Fragility Exhibition
บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 และ 14 พฤษภาคม 2564
เวลาเดินผ่านต้นไม้ในสวนที่ถูกปลูกไว้ระหว่างหอพักในช่วงเวลาฤดูหนาว ใบของมันมักจะผลิร่วงหล่นลงมาพร้อมกับสายลมเย็นๆ ต้นไม้ที่หลงเหลือเพียงแต่กิ่งก้านไร้ซึ่งใบปกคลุมเหล่านี้มักชวนคิดถึงความเปราะบางในชีวิตบ่อยครั้ง และในความบ่อยครั้งนี้เองที่มักถามตัวเองอยู่เสมอว่าในช่วงที่เราเปราะบางที่สุดในชีวิตเราสามารถเยียวยาตัวเองอย่างไรได้บ้าง
ส่วนตัวแล้ว คำตอบก็คงจะมีเพียงการเขียน การอ่าน การได้อยู่กับคนที่เรารักและการได้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่พอจะเยียวยาตัวเองได้บ้าง
แต่สำหรับบอลล์ ปิยลักษณ์ เบญจดล เธอใช้ช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดในช่วงชีวิตของเธอสร้างสรรค์ผลงานราว 2 ปีที่อยู่กับความเจ็บป่วย มะเร็งครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เพื่อบอกเล่าความหวัง ความเข้มแข็งและความสุข ท่ามกลางความเปราะบางของชีวิต
Fragility, Solo Exhibition by BallPiyaluk (Piyaluk Benjadol) เป็นนิทรรศการเดี่ยวของเธอที่จัดขึ้นที่ PS±D Space บริเวณสุขุมวิท 23 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ PRACTICAL school of design เธอเล่าเรื่องราวผ่านผลงานทั้งหมด 69 ชิ้นงานโดยถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชุดอันได้แก่
Pin Cushion Series ศิลปินเปรียบเทียบเข็มหมุดกับเข็มฉีดยาตลอดการรักษาของตัวศิลปิน
Matter of Existence: ME Series เปรียบผลงานแต่ละชิ้นแทนร่างกายของเธอเอง
Miniature Oddities Series ชิ้นงานที่ประกอบจากของสะสมของศิลปินที่ชวนตั้งคำถามจากรูปลักษณ์และการประกอบสร้างของผลงานและ Loved and Gone Series ทำชิ้นงานจากเส้นผมโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Mourning Culture วัฒนธรรมการเก็บเส้นผมของผู้วายชนม์
ทุกชิ้นงานของเธอล้วนสร้างขึ้นมาอย่างละเอียดอ่อน มีความหลัง เรื่องราวและความหมายแฝง เพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจในระหว่างที่รักษาตัวจากอาการป่วยของเธอเอง
บางชิ้นกลับมาตั้งคำถามต่อตัวผู้ชมเอง ว่าในขณะที่เรามีชีวิต เรากำลังทำสิ่งใดอยู่
บางชิ้นก็ยึดโยงเข้ากับประสบการณ์ของชีวิตตัวเอง
บางชิ้นก็สามารถเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ชมงาน
นิทรรศการนี้ถูกจัดการผ่านการออกแบบ บอกเล่า ผ่านภัณฑารักษ์อย่าง เบล กนกนุช ศิลปวิศวกุล ที่มีส่วนร่วมอย่างมากในการจัดแสดง ทั้งการศึกษาทำความรู้จักผลงานก่อนการนำไปจัดแสดง ร่วมถึงการทำการบ้านเรื่องพื้นที่จัดแสดงงานเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบพื้นที่ให้สามารถจัดการแสดงได้ครบทุกชิ้น และการจัดกิจกรรมในช่วงของ Covid-19 นี้เองกลับเป็นความท้าท้ายอย่างหนึ่งของการจัดการที่ต้องมีการออกแบบ เบลยังบอกอีกว่าการออกแบบพื้นที่สำหรับการจัดแสดงนี้เองทำให้เราหันกลับมาสังเกตพื้นที่ที่เรามีแล้วทำการจัดการพื้นที่ให้
สามารถนำมาแสดงผลงานได้ จากแต่เดิมเป็นพื้นที่สำหรับการประชุมงาน ผ่านงานของตัวศิลปินที่มีความเป็นเรื่องส่วนตัวในการเยียวยาอาการป่วยของตนเอง
ศิลปินเองก็ยังได้เรียนรู้และเยียวยาตนเองจากการสร้างสรรค์ผลงาน ผ่านการการแสดงความขบถ การถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองรู้สึก นอกจากนี้ผลตอบรับจากผู้เข้าชมงานก็ยังส่งผลต่อการเพิ่มเติมกำลังใจของเธออีกด้วย
ดังนั้นแล้วบทเรียนจากความปวดร้าว
กลับสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมงาน
และแก่ตัวศิลปินเองอย่างคาดไม่ถึง
และงานจัดแสดงนี้ยังคงถ่ายทอดความหวัง ความเข้มแข็ง และความสุขคืนกลับให้กับผู้ชมงาน
พบว่า…
เบื้องหลังความเปราะบางกลับมีความเข้มแข็ง
เบื้องหลังความทุกข์กลับทำให้เราค้นพบความสุข
เบื้องหลังการร่วงหล่นของใบไม้กลับบ่งบอกความมั่นคงในการคงอยู่ของลำต้น
ท่ามกลางความเปราะบางเรายังมีความหวัง
ยังสามารถเข็มแข็งและสามารถมีความสุข
งานของเธอกระซิบบอกแบบนั้น