PRACTICAL school of design โรงเรียนสอนการออกแบบที่คนธรรมดาก็เรียนรู้ได้
โดย สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล
เผยแพร่ 20.03.2023
The Kommon
https://www.thekommon.co/practical-school-of-design/?fbclid=IwAR1FzL_ReDvCRyLxHuEsLP9eN0QdFo8LHPOZaKd8mvSJIfJCxATpSVaHhck
PRACTICAL school of design (PS±D) นิยามตัวเองไว้ว่าที่นี่คือ ‘พื้นที่ทดลองเรียนรู้ด้านการออกแบบสำหรับทุกคน’ พวกเขาจึงพยายามเชื่อมโยงการออกแบบเข้ากับทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และนำเสนอโปรแกรมที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนหลากหลายช่วงวัย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง และคนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องการออกแบบได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์หรือความเชี่ยวชาญด้านศิลปะเท่านั้น ในทุกๆ คอร์ส ทางสถาบันจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีบรรยากาศผ่อนคลายเป็นมิตร ให้ทุกคนสบายใจที่จะถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมา
โรงเรียนสอนด้านการออกแบบแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักออกแบบ 6 คน ได้แก่ สันติ ลอรัชวี, กนกนุช ศิลปวิศวกุล, อรรฆพงศ์ ผลประเสริฐ, ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร, จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์ และรมิตา บุราสัย ซึ่งพวกเขาต่างมีบทบาทในวงการที่หลากหลาย บ้างก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย บ้างก็เป็นคิวเรเตอร์ (Curator) บ้างก็เปิดสตูดิโอออกแบบและขับเคลื่อนแบรนด์ของตัวเอง หลายคนเคยร่วมงานกันแบบเฉพาะกิจ ก่อนมารวมตัวทำ PRACTICAL school of design ด้วยกันอย่างจริงจัง
“พวกเราแต่ละคนเกือบทุกคนเป็นอาจารย์สอนวิชาออกแบบในมหาวิทยาลัย ถึงได้มารวมตัวกันทำ PRACTICAL school of design เพราะเรามองว่ากระบวนการสอนและการเรียนรู้เชิงออกแบบสามารถส่งต่อได้ โดยผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบ แม้แต่เด็กๆ หรือคนวัยเกษียณก็เรียนรู้เรื่องการออกแบบได้ เราจึงอยากนำประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย” เบล-กนกนุช หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าถึงที่มาของสถาบันแห่งนี้
เรียนรู้เพื่อค้นพบความหมายในตนเอง
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า PRACTICAL school of design เป็นโรงเรียนลักษณะไหน เราขอเล่าผ่านคำอธิบายคอร์ส Creative Drawing Club คอร์สแรกของสถาบันที่สอนโดย รศ.ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ศิลปินร่วมสมัย และอาจารย์ทัศนศิลป์ที่มีผลงานโดดเด่นระดับโลก ร่วมดำเนินรายการโดย อาจารย์ติ๊ก-สันติ นักออกแบบชื่อดังผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียน
รศ.ธเนศ ให้คำอธิบายถึงคอร์สไว้ว่า คำว่า Drawing มีความหมายในสองมิติ มิติแรกคือการฝึกฝนทักษะการวาดภาพ อีกมิติคือการใช้การวาดภาพเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงความคิดและความรู้สึก ที่บ่งบอกว่าคนวาดเป็นใคร มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร และมีคาแรกเตอร์ทางจิตแบบไหน
ซึ่งในคอร์ส Creative Drawing Club จะเป็นการพูดถึง Drawing ในฐานะงานแฮนด์เมดขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การวาดรูป ผู้เรียนสามารถทดลองตัด แปะ เย็บ หรือทำอะไรก็ได้ เพื่อค้นหาศักยภาพของตนเอง
“หลายคนสมัครคอร์สนี้เพราะอยากเรียนรู้วิธีการวาดรูป แต่เราพยายามเปิดประเด็นว่า Drawing ไม่ใช่แค่การใช้ดินสอ ปากกา หรือสีวาดรูปอย่างเดียว แต่เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความคิดของแต่ละคนออกมาเป็นภาพ” เติร์ก-จักรพันธ์ อธิบายขยายความ
บางคนวาดรูปไม่เก่งแต่อาจทำอย่างอื่นได้สุดยอดมากโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยมีโอกาสสำรวจทักษะที่ซ่อนอยู่ภายใน หลักสูตรนี้จึงเปิดกว้างให้ทุกคนได้เรียนรู้โดยไม่ยึดติดกับอุปกรณ์และกรอบความคิดเดิมๆ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ค้นพบสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อน และมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานในแกลเลอรี่หลังจบคอร์สด้วย
หรือคอร์สอย่าง A Stone in Your Mind (The Exploration of Signifier) โปรแกรมเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติที่ดูแลโดย อาจารย์ติ๊ก-สันติ และ PS±D Facilitators โปรแกรมนี้ผู้เรียนจะได้เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานของสัญศาสตร์กับการออกแบบสื่อสารเชิงภาพ (Visual Communication) ผ่านการสำรวจ ‘ก้อนหินหนึ่งก้อน’ ทุกแง่มุม ตั้งแต่องค์ประกอบทางกายภาพ หลักทางธรณีวิทยา ไปจนถึงความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม และความรู้สึกภายในที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนมีมุมมองต่อก้อนหินแตกต่างกันออกไป เพื่อค้นหาความหมายที่อาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน หลายคนที่ผ่านคอร์สนี้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า นอกจากจะเข้าใจเรื่องสัญศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกเขารู้จักตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
“หลายคนที่เข้าร่วมคอร์สกับเรากลับไปด้วยความรู้สึกสบายใจมากขึ้น” เติร์ก-จักรพันธ์ เล่าถึงสิ่งที่ได้พบเจอ “ก่อนหน้านี้เขาอาจไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองว่างานที่ทำอยู่ดีหรือไม่ดี บางคนมีความเครียดจากเรื่องอื่น พอได้มาร่วมวงสนทนาที่คล้ายๆ เป็นการบำบัดร่วมกัน มีบรรยากาศของการซัพพอร์ตกันและกัน ทำให้หลายคนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้นและคลายความกังวลลงได้ มันคือการรวมตัวของคนที่มีความต้องการคล้ายๆ กัน โดยมีทีม PRACTICAL ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา แต่คนที่มาเรียนคือส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างบรรยากาศที่ดี”
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือแต่ละคอร์สของ PRACTICAL school of design จะมีการรับสมัครนักเรียนนักศึกษาเข้ามารับหน้าที่สำคัญในตำแหน่ง Note Taker ซึ่งจะมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้เนื้อหาภายในคลาสโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อจดบันทึกและถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาผ่านมุมมองของตนเอง โดยเนื้อหาจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะและต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น นำมาเป็นจัดทำเป็นบันทึกการเรียนรู้ที่สอดแทรกอยู่ในสูจิบัตรของนิทรรศการ
หนังสือสูจิบัตร ซึ่งได้รวบรวมผลงานของผู้ร่วมเรียนทุกคนไว้
เพิ่มพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กน้อยได้เรียนรู้
คอร์สส่วนใหญ่ของ PRACTICAL school of design ไม่จำกัดอายุผู้เรียน สมาชิกจึงมีตั้งแต่วัยรุ่นมัธยมไปจนถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณเลยทีเดียว แต่หากจะขยายพื้นที่เรียนรู้ไปสู่เด็กเล็กระดับปฐมวัย รูปแบบการเรียนรู้และเนื้อหาที่ใช้ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เบล-กนกนุช ศิลปะวิศวกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันแห่งนี้จึงมีความคิดที่จะออกแบบเวิร์กชอปสำหรับเด็กขึ้น ในชื่อ SIM for KIDS : A Workshop for Kids
“เบลสนใจเรื่องสัญศาสตร์เลยลงเรียน A Stone in Your Mind ซึ่งเขาให้เปรียบเทียบว่าเราเป็นหินแบบไหน เบลรู้สึกว่าตัวเองเป็นน้ำตาลกรวด หรือ Rock Sugar เราอยากเป็นหินที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น อยากส่งต่อกระบวนการเรียนรู้ไปสู่ผู้อื่นก่อนที่เราจะสลายไป” เบล-กนกนุช เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับและอยากส่งต่อ
“เบลมีหลานที่สนิทกัน เลยได้เห็นกระบวนการเติบโตของเด็ก ว่าเขาจะค่อยๆ เรียนรู้จากการทดลองด้วยตัวเองและความรู้ที่ผู้ใหญ่ส่งต่อให้ ซึ่งเขาสามารถต่อยอดความคิดและจินตนาการไปได้ไกลมาก พอมาทำเวิร์กชอปสำหรับเด็กวัยประมาณ 5-8 ขวบ เราเลยต้องออกแบบกระบวนการและเครื่องมือให้เปิดกว้างมากที่สุด ต้องเตรียมตัวมากขึ้นในทุกเรื่อง เพื่อให้วิธีพูดและวิธีดำเนินเรื่องไม่ไปตีกรอบความคิดและจินตนาการ เบลบอกพ่อแม่เด็กไว้เลยว่าอย่าเพิ่งบอกเขานะว่าเราจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับหิน”
กิจกรรมแรกเริ่มจากให้เด็กๆ ใช้ประสาทสัมผัสที่ไม่ใช่ตาทำความรู้จักวัตถุปริศนาที่ซ่อนอยู่ในถุงผ้า กระป๋อง และกระบอก หลังจากใช้มือลูบคลำ ดมกลิ่น และเขย่าฟังเสียงแล้ว เบลก็จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ บอกเล่าผ่านคำพูดและการวาดรูปว่าสิ่งที่สัมผัส ได้กลิ่น และได้ยินนี้ น่าจะเป็นอะไร อยู่ที่ไหน และใช้ทำอะไรได้บ้าง จากนั้นภาพวาดจะถูกนำไปพิมพ์ลงบนกระดาษที่มีโครงสร้างสำหรับหัดพับกล่อง Origami เพื่อเสริมประสบการณ์และให้เด็กๆ ได้นำผลงานกลับไปใช้ประโยชน์ รวมถึงมีการนำภาพเดียวกันมาพิมพ์ลงบนซองช็อกโกแลตหินที่แจกกลับไปที่ระลึก เพื่อให้เด็กๆ เห็นถึงความเป็นไปได้ที่หลากหลายว่าสิ่งที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นสามารถนำไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ชุดความคิดแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งหลังจากจบเวิร์กชอปแล้วทางคุณเบลก็ได้มีการจัดทำสรุปชุดความรู้ที่ได้จากกิจกรรม เพื่อส่งต่อข้อมูลให้สถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กด้วย
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวงการออกแบบ
PRACTICAL school of design ไม่ได้ทำเฉพาะโปรเจกต์หรือคอร์สภายในสถาบันเท่านั้น แต่ยังออกแบบเวิร์กชอปพิเศษ Check ± Shift ± Change™ : LEAVE YOUR MARK ที่เน้นแกนหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การสำรวจตัวเอง ยกระดับแนวคิด พัฒนาทักษะ และเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยน เพื่อให้นักสร้างสรรค์ได้ทดลองก้าวออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมของตนเอง โดยคอร์สนี้เริ่มต้นมาจากการทดลองทำกิจกรรมร่วมกับนักออกแบบในงาน Bangkok Illustration Fair และต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน happening exhibition นิทรรศการศิลปะผสมกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่จัดโดย happening สื่อบันเทิงเชิงสาระภายใต้การดูแลของวิภว์ บูรพาเดชะ
“เบลเป็นคณะกรรมการตัดสินงานให้กับ UNKNOWN ASIA Art Exchange Osaka ที่ประเทศญี่ปุ่นมา 7 ปีแล้ว พอได้มาร่วมจัดงาน Bangkok Illustration Fair เราก็อยากผลักดันศิลปินและนักออกแบบไทย เลยออกแบบคอร์สของโรงเรียนให้มาซัพพอร์ตงานนี้ด้วย เบลดูงานจากทั่วโลกมา 7 ปี บอกได้เลยว่านักวาดภาพประกอบในบ้านเรามีศักยภาพไม่แพ้ประเทศไหน ผลงานศิลปินไทยน่าสนใจมากเขาแค่รอพื้นที่ในการผลักดัน LEAVE YOUR MARK เลยเป็นคอร์สที่เราอยากผลักดันให้นักออกแบบได้พัฒนากระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เขาเอาไปปรับใช้กับการนำเสนอผลงาน”
“ในงาน Bangkok Illustration Fair จะมี Reviewer ซึ่งเป็นแบรนด์หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เบลเชิญมาเพื่อสนับสนุนศิลปินที่จัดแสดงงาน เราคุยกันไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าเขาจะมาคัดเลือกศิลปินและนักออกแบบไทยไปทำงาน ระหว่างทางเบลจะคุยกับศิลปินตลอดว่าคนที่ Reviewer ยังไม่เลือกในปีนี้ไม่ได้หมายความว่าผลงานคุณไม่น่าสนใจนะ แต่มันอาจจะยังไม่ตรงกับลักษณะงานที่เขาต้องการในตอนนี้ คุณลองสร้างเครือข่ายไว้ แนะนำตัวให้เขารู้จักก่อน เพราะ Reviewer จากต่างประเทศหลายคนเป็นเหมือนเอเจนซี่ประจำประเทศนั้น ซึ่งบางทีรางวัลก็มาในรูปแบบของการสนับสนุนให้ศิลปินบินไปจัดแสดงงานในต่างประเทศ หรืออย่างเซ็นทรัลทีตอนแรกยังไม่ได้มาเป็น Reviewer แต่เป็นเครือข่ายที่เราสนิท ปีที่ผ่านมาเขาก็ได้นักสร้างสรรค์ของเราไปทำงานด้วยเป็นสิบคนเลยค่ะ” เบล-กนกนุชเล่าถึงความสำเร็จของงานที่ผ่านมา
นอกจากนี้ PRACTICAL school of design ยังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เมื่อปี 2565 โดยโปรเจกต์ที่ทำคือ WE ARE IN THE SAME GAME รวมผลงานศิลปะจากศิลปินเอเชียเพื่อส่งต่อกำลังใจให้กับนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานโตเกียวโอลิมปิก 2020 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แรกเริ่มผลงานเหล่านี้โลดแล่นอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น โดย PRACTICAL school of design รับหน้าที่เป็น Co-organizer รวบรวมผลงานของศิลปินไทย และต่อยอดสู่การจัดนิทรรศการโปสเตอร์เพื่อจัดแสดงในช่วงงานดีไซน์วีค
ส่วนในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ปีล่าสุด นัด-ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร หรือ Nut Dao นักวาดภาพประกอบมากฝีมือ เจ้าของแบรนด์ Lig และผู้ร่วมก่อตั้ง PRACTICAL school of design ได้ถูกชักชวนให้รับหน้าที่สำคัญอย่างการออกแบบ Key Visual งานในธีม urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ที่อยากชวนผู้คนมาเป็นมิตรกับเมืองในหลากหลายมิติ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ PRACTICAL school of design เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และขณะเดียวกันสังคมนักออกแบบก็ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นด้วยเช่นกัน
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ไม่มีข้อจำกัด
PRACTICAL school of design พยายามเชื่อมโยงการออกแบบเข้ากับทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน งานของพวกเขาจึงมีความหลากหลายและเปิดกว้างในการร่วมคิดร่วมทำ นำกระบวนการทางความคิดอย่าง Design Thinking มาสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ในวงการ เช่น การสร้างแบรนด์ให้กับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในนามของ PRACTICAL Design Studio
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ทีมของ PRACTICAL school of design มีโอกาสเปิดคอร์สสอนวิชาการออกแบบให้กับนักดนตรี เพื่อนำเสนอศิลปะการเล่าเรื่องในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักดนตรีแต่ละคนสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานสร้างสรรค์ของตนเอง เช่น การทำวิชวลประกอบการแสดงดนตรี หรืออาจมีไอเดียระหว่างลงมือสร้างชิ้นงานที่นำไปแปลงเป็นท่วงทำนองได้ และนักออกแบบที่เข้าไปคลุกคลีกับนักดนตรี ก็ได้รับประสบการณ์รวมถึงความรู้ใหม่เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ทางดนตรี ที่ช่วยเปิดมุมมองให้นำมาปรับใช้กับการทำงานออกแบบได้ นอกจากนี้ ยังมีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชิญทีม PRACTICAL school of design เข้าไปเลกเชอร์เรื่องการใช้ภาพและการออกแบบสื่อสารผ่านพรีเซนเทชันด้วย
เติร์ก-จักรพันธ์ เล่าถึงก้าวต่อไปของ PRACTICAL school of design ว่า “ช่วงนี้เรากำลังเตรียมการว่าจะมีคอร์สอะไรบ้าง และแพลนไว้ว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีสถานที่เป็นของตัวเองให้ทุกคนมาพบปะกันได้ เพราะก่อนหน้านี้เวลาเปิดคอร์สเราจะไปติดต่อกับแกลเลอรี่ คาเฟ่ โยกย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ที่เราคิดว่าเหมาะสม” นั่นคือการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่หัวใจหลักในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ของพวกเขายังคงไม่เปลี่ยนแปลง
PRACTICAL school of design พยายามสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ไม่มีถูกผิด ไม่ใช่โรงเรียนที่ป้อนข้อมูลให้กับผู้เรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถริเริ่มทดลองและปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลายครั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในคลาส ก็ทำให้ผู้สอนได้เรียนรู้มุมมองที่น่าสนใจจากผู้เรียน และเก็บเกี่ยวแนวคิดจากบทสนทนาเหล่านั้นใช้พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ด้านการออกแบบต่อไปอีกทอด