Exchange: EP10, ว่างก็ออกแบบ ไม่ว่างก็ออกแบบ
บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564
ต้องปรับตัว ตั้งคำถาม ออกแบบวิถีชีวิตกันใหม่
ใครๆ ก็เป็นแบบนี้กัน ในสถานการณ์ที่โลกกำลังทดสอบพวกเราด้วยข้อสอบที่ถูกขนานนามว่าโรคระบาด หากแต่จะยังยืนหยัดอย่างมั่นคง คิด กระทำ อยากคงไว้แบบเดิม คงจะอยู่ต่อไปได้ไม่เท่าไร
มากบ้างน้อยบ้าง บททดสอบครั้งนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันแน่ ๆ หลายสิ่งที่ไม่คาดหวัง วาดฝันไว้ว่าจะไม่เกิด กลับต้องมาใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับมัน อย่างเช่นการสวมใส่หน้ากากอนามัยเหมือนดังอวัยวะที่ 33 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานอดิเรกของเรากลับเป็นหนึ่งสิ่งที่ต้องหันมาทบทวน เนื่องจากเรามีวันเวลาในการดำเนินกิจกรรมที่เยอะมากขึ้น เพราะด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง การเดินทางน้อยลง เราทำงานอยู่กับที่มากขึ้น
บางคนอาจจะใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น บางคนอาจจะดูภาพยนตร์ ต่อโมเดลพลาสติก ถ่ายภาพ ตลอดจนเขียนบันทึกชีวิตประจำวัน ที่ดูแล้วไม่มีอะไรจะข้องเกี่ยวกับการทำงานในสายงานออกแบบเลยแม้แต่น้อย
นึกออกใช่ไหม บางครั้งบางครา แม้ในยามที่เราไม่ได้ทำงานออกแบบ แต่เรากำลังอาจจะออกแบบอยู่ผ่านงานอดิเรกที่ทำ คล้ายได้พักผ่อน ไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์ ที่ช่วยเพิ่มเติมให้กับความคิดด้านการออกแบบได้เช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานอดิเรกของเรามักจะมีรากฐานจากสิ่งที่เราสนอกสนใจ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ได้พื้นฐานมาจากความอยาก ในที่นี้คือความอยากที่จะทำอะไรบางอย่างด้วยความรื่นรมย์ ทำให้เราดื่มด่ำกับกระบวนการของงานอดิเรกนั้นๆ และสามารถทำมันต่อไปได้
บางคนริเริ่มงานอดิเรกแรกเริ่มจากความสงสัยของตนเองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วครุ่นคิดว่าสิ่งของสิ่งนั้นจะนำตัวเราไปสู่อะไรได้บ้าง โดยไม่ต้องกดดันตัวเองว่าต้องทำให้สำเร็จ แต่กลับมองว่าเป็นการเรียนรู้ คล้ายกับการทำงานเชิงการเรียนรู้ หากเป็นการเรียนรู้ตัวเองจากสิ่งที่สนใจ
บางคนกลับผสมความสงสัยเข้าไปด้วยกันกับความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ปริมาณกิจกรรมในการหาคำตอบกลับสนุกสนานขึ้นไปอีก
ในขณะที่บางคนสร้างคลังการเรียนรู้ของคนเอง จากกระบวนการเก็บชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยเริ่มจากการเขียนในสิ่งที่กำลังทำจะทำ หรือสิ่งที่ชอบ แล้วก็หาภาพประกอบ เพื่ออธิบายถึงว่าชีวิตของเรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อสะท้อนถึงตัวเอง จนทำให้เห็นภาพรอบตัวและเข้าใจตัวเราเองได้มากขึ้น
ในความคล้าย นักออกแบบเหมือนนักกีฬาที่ไม่สามารถลงสนามได้ตลอดเวลา หากแต่บางคนกลับต้องการพัฒนาตัวเอง นักออกแบบจึงสามารถพัฒนาตนเองจากงานอดิเรกที่เปรียบเหมือนกับการซ้อมเพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ทำให้เรียนรู้ได้อยู่เสมอ
มากกว่าการยืนหยัดคงที่ยืดถือกับสิ่งเดิมให้อยู่ยงคงกระพันคล้ายเป็นสิ่งที่ทำให้เราย้อนหลังย้อนยุคอยู่กับที่
การปรับเปลี่ยนผันแปรเปิดรับเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นสิ่งที่ทำให้โลกเราขับเคลื่อนพัฒนาอยู่ตลอด
ว่างก็สามารถออกแบบไม่ว่าง (เพราะต้องทำงาน) ก็ออกแบบได้เฉกเช่นกัน