Leave Your Mark 03 (2024) : Class Note #3

บทความนี้เป็นบันทึกการเรียนรู้ จากห้องเรียน Leave Your Mark 03 วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567
บันทึกโดยคุณพนิดา วสุธาพิทักษ์ (Leave Your Mark03 : Note Taker)

Instructor: เบล กนกนุช ศิลปวิศวกุล

Leave your mark
ต้นแบบผลงานของนักสร้างสรรค์


การทำงานสร้างสรรค์ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอนไม่มีเส้นชัยความสำเร็จหรือยอดเขาที่แท้จริง
มีเพียงแค่การดำรงชีวิตงานสร้างสรรค์ (Maintain) เอาไว้ให้มีพลังอย่างต่อเนื่อง


คุณติ๊ก-หนึ่งในผู้เรียน Leave Your Mark 03 (2024)

การลงเท้าของนักวิ่งมาราธอนต้องออกแบบให้สัมพันธ์กับจังหวะการหายใจ
ไม่ต่างจากนักสร้างสรรค์–หากอยากยืนระยะได้นาน ต้องอาศัยลม คอยหล่อเลี้ยงความคิด ความเชื่อ และแนวปฏิบัติ ให้สอดประสานต่อเนื่อง
จังหวะหายใจในกระบวนการสร้างสรรค์ ไม่เกี่ยวกับ คำว่า สำเร็จ หรือ ล้มเหลว แต่เป็นหนทางขับเคลื่อนให้เราไปข้างหน้า
เสาะหา ‘อากาศ’ ใหม่ ๆ เพื่อ ‘โอกาส’ ต่อยอดและเติบโต
หัวข้อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 Leave your mark เป็นกิจกรรมนำเสนอต้นแบบผลงานของผู้เรียนรายบุคคล
โดยครั้งนี้อาจารย์เบลจะเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในบริบทของการนำเสนอผลงาน (Presentation)
เมื่อได้สำรวจและทดลองวิธีหายใจเข้า อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
การนำเสนอผลงานประกอบการเรียนรู้ ก็คือ การหายใจออก โดยมีนิทรรศการเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

คุณเบน
แสงสีสกรีนทรงจำเซนสั่น (ซับ)ซ้อนสนิมสัญญะ: การนำเสนอต้นแบบผลงานของนักสร้างสรรค์

ความคิดที่คมชัดในชิ้นงานของเบนเป็นเหมือนจุดรวมแสง ช่วยจัดระเบียบทุกอย่าง–ทั้งสี วัสดุอุปกรณ์ ดวงตาที่มองเห็น วางรวมไว้อยู่ในเฟรมเวิร์ก (Framework) เดียว ส่งผลให้ชิ้นงานคมคาย และเต็มไปด้วยตัวเลือกของแนวคิดที่จะพัฒนาต่อ

การเลือกใช้สีเป็นตัวขับเน้น (Highlight) การเล่นเรื่องพื้นที่ทับซ้อน เพื่อดูจังหวะ เทคนิค มองหาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการใส่ตัวแปร และเพิ่มมิติของการมองเห็น ยิ่งชวนสำรวจต่อว่า ภายใต้วัตถุบนโต๊ะรอบตัวที่วาดเป็นภาพหุ่นนิ่ง (Still life) หากมีแต่ส่วนที่ถูกขับเน้นจนเด่นชัดขึ้นมา ทั้งภาพ (Visual) และองค์ประกอบ (Composition) ที่ปรากฏต่อสายตา รวมถึงการเข้ากระทำ/ วิธีถ่ายทอดระหว่างการมองเห็น จะเป็นอย่างไร

ประเด็นที่ชวนท้าทาย ก็คือ สิ่งที่ลอยเด่นออกมานั้นเกิดจากแสงที่ตกกระทบพื้นผิวและส่งแสงกลับมาจนเกิดจุดเน้นซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น หากตัวแปรในการจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะ ยังขึ้นอยู่กับว่า ตัวเรา–ในฐานะผู้มองอยู่ตรงจุดไหนของวัตถุ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับแหล่งกำเนิดแสง ช่วงเวลาที่เรานั่งมองวัตถุจากเช้าจรดค่ำ การเคลื่อน (Movement) เหล่านี้ล้วนทำให้ความหมายในสายตาเราแปรเปลี่ยน

แม้ว่า เบนพยายามทำงานเพื่อจะออกจากความหมาย แต่วิธีการเลือกเล่นกับความหมายกลับจะยิ่งต่อเติม สร้างบทสนทนาใหม่ ชิ้นงานนี้จึงเป็นเหมือนต้นกล้าความคิดที่รอการเติบโต

คุณฟ้าใส

ฟ้าใสเลือกที่จะศึกษาการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ของสี เพื่อสื่อสารเรื่องที่เธออยากเล่าให้ก่อเกิดความหมายในใจผู้คน

เธอหยิบงานเก่ามาทดลองเปลี่ยนการลงสีทีละชิ้น ปรับเปลี่ยนวิธีการ ประเภทสีที่เลือกใช้ พิจารณาสัมผัสสัมพันธ์ที่แตกต่างระหว่างงานบนหน้าจอและงานบนกระดาษ และหนึ่งในผลงานทดลองของเธอก็มีความแปลกตากว่าชิ้นอื่น เป็นชิ้นงานที่มองผาดเผินเหมือนการเล่นกับสีด้วยความผ่อนคลาย แต่กลับนำเสนอให้เห็นท่วงท่าลีลาใหม่เฉพาะตน

ฟ้าใสถอดเส้นออกจากงาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาเส้นไว้

เธอเปลี่ยนจากเส้นที่เป็นดังกำแพงกั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสี มาใช้สีเป็นเหมือนพรมแดนธรรมชาติ ที่การแบ่งแยก ระยะห่าง ไม่มีความชัดเจน ขอบเขต (Boundary) เต็มไปด้วยความคลุมเครือ แต่กลับเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ ช่วยสื่ออารมณ์ที่เธอต้องการขับเน้น คล้ายกับการคลี่คลายกระบวนท่าของจอมยุทธผู้ยอมละทิ้งกระบี่ แต่สิ่งที่จับต้องได้ในงานยังเฉียบคม

ความเฉียบคมนี้สามารถยกระดับแนวคิดในเรื่องการสื่อสาร การรับรู้ของมนุษย์ ขึ้นไปอีกขั้น ทั้งการจัดองค์ประกอบภาพแบบเปิดและเเบบปิด (Open and Closed composition) รวมถึงความสัมพันธ์ของรูปและพื้น (Figure and Ground) ดังเช่นตัวอย่างภาพแจกันรูบิน (Rubin vase) ซึ่งเป็นภาพลวงตาชนิดหนึ่งที่สามารถมองเห็นเป็นรูปแจกันหรือใบหน้าคนสองคน ตามแต่มุมมองการรับรู้และการแยกแยะระหว่างสิ่งที่โฟกัสกับฉากหลัง

นอกจากการสำรวจมุมมองด้านจิตวิทยา การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประกอบในการสร้างสรรค์งาน ยิ่งจะช่วยต่อยอดและเพิ่มมิติการสำรวจให้เข้มข้น น่าสนใจ อาทิ การทดลองเรื่องคู่สี ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Interaction of Color ของ Josef Albers รวมทั้งการลองเปิดประสบการณ์ด้วยการผลักดันตนเองไปทดลองงานในรูปแบบอื่น ๆ เช่น งานภาพเคลื่อนไหว เพื่อค้นหามุมมองใหม่ในการเล่าเรื่อง

คุณติ๊ก

ผลงานการเรียนรู้ของ คุณติ๊ก จะจัดแสดงในรูปแบบศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่มีการออกแบบพื้นที่และจัดวางองค์ประกอบของชิ้นงานต่าง ๆ ที่มองเห็นได้ (Visual Elements) เช่น วีดิทัศน์สารคดี บล็อกสกรีน สติ๊กเกอร์ สมุดภาพ เป็นบริบทแวดล้อม เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ร่วมและเป็นผู้สร้างความหมายให้กับงาน

ประสบการณ์ที่เขาเลือกนำมาบอกเล่า เป็นกระบวนการของคนที่กำลังจัดการความรู้สึกของตนเอง ผ่านการทำความเข้าใจสิ่งของกระจุกกระจิกที่บรรจุความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ แม้ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของ “เรื่องเล็ก ๆ” ที่กระจัดกระจายอยู่ในชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้กลับคอยสร้างความหงุดหงิดใจ และเมื่อมวลของความรู้สึกรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่ ก็ส่งผลรุนแรง เรื้อรัง และกลายเป็น “เรื่องใหญ่” ที่ต้องจัดการ

ในช่วงวัยที่ชีวิตเริ่มนับถอยหลัง เขาต้องการแสวงหาวิธีที่จะใช้ชีวิตอย่างสบายใจและเบาลง

  …ภาพของชิ้นงานสกรีนก่อนและหลังที่จะมีรอยเปื้อนความคิดเกี่ยวกับพ่อ…

…การฉายวีดิทัศน์สารคดีลงบนบล็อกสกรีนที่ทึบจากคราบเกรอะกรัง…

บางเรื่องราว ค่อย ๆ ประกอบเป็นคำถามจากผู้ร่วมเรียนรู้ที่น่าสนใจยิ่ง

“อะไรก็ตามที่กระทำบนบล็อกจะทิ้งร่องรอยไว้ต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้เห็นถึงความต่อเนื่องบางอย่าง แล้วภาพวีดิทัศน์ที่ฉายบนบล็อกจะทิ้งร่องรอยอะไรให้เห็นความต่อเนื่องนี้ได้ สิ่งที่มากระทำกับเฟรมต่างกัน จะทิ้งร่องรอยเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่” 

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ยังคงรอคอยคำตอบ

คุณอุ้ย

อุ้ยใช้งานเขียนถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับ “แมวโชค” กระบวนการดังกล่าวช่วยให้เธอได้ปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกเศร้าเสียใจ และบันดาลแรงให้เธอได้กอบเอาชิ้นส่วนความทรงจำที่กระจัดกระจายมาประกอบสร้างเป็นความทรงจำใหม่ เพื่อส่งมอบเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างคนคนหนึ่งกับแมวตัวหนึ่งให้เกิดใหม่ในความทรงจำของผู้คน

การสร้างพื้นที่แห่งความทรงจำ ซึ่งจะนำพาผู้ชมให้ได้ซึมซับกับประสบการณ์และนำเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับโชคติดตัวกลับไป จะต้องมีการออกแบบวิธีการอ่านเนื้อหา (Text) งานเขียนของเธอ ซึ่งมีทางเลือกให้ทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก (Booklet) การแจกกระดาษสำเนา ใช้คิวอาร์โค้ด (QR Code) การติดชิ้นงานบนผนัง การฉายผ่านจอโปรเจคเตอร์ (Projector) รวมถึงการออกแบบวิธีการสร้างเสียงที่จะส่งผลต่อความทรงจำ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง การนำเสนอต่อหน้าผู้ชม (Perform) ด้วยเสียงที่เธออ่านเรื่องราวเกี่ยวกับโชค หรือการบันทึกเสียงของคนอื่น ๆ รอบตัว ที่เคยรับรู้เรื่องราวและมีความทรงจำร่วมกันมาไว้ในสื่อ เพื่อเปิดกว้างสำหรับผู้ชมที่ต้องการรับประสบการณ์เกี่ยวกับโชคอย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อแนวคิดมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน วิธีการนำเสนองานจึงมีความเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ หากสิ่งที่เป็นแก่นแกนสำคัญกลับอยู่ที่ก้าวต่อไป เพราะการจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง ไม่ได้ทำเพื่อจบ แต่ทำเพื่อการก้าวเดินต่อ หากงานที่ทำออกมาสมบูรณ์แบบ เวลาต้องเดินกลับบ้านคงเต็มไปด้วยความรู้สึกว่างเปล่า เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ แต่ถ้างานสร้างสรรค์กลายเป็นการวิ่งมาราธอน หลังทำงานเสร็จ จะเกิดความกระตือรือร้นที่จะสร้างงานชิ้นต่อไป รักษาวงสวิงนั้นไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดรอบวงของความเป็นไปได้ครั้งใหม่ที่ไม่สิ้นสุด

คุณเติ้ล

กระบวนการทดลองพัฒนาชิ้นงานของเติ้ลเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของความผิดพลาด เริ่มต้นจากการลบ การเขียนและลบ ก่อนจะจบลงด้วยการเขียนเพื่อลบ ซึ่งเป็นการตั้งใจเขียนจนกว่าจะผิด แล้วใช้ดินสอขยี้จุดผิดนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ

คุณติ๊ก เปรียบเทียบผลงานชิ้นนี้ว่า คล้ายกับโศลกคำสอนบทหนึ่งในนิกายเซน ที่กล่าวว่า “ก่อนเรียนรู้เซน ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ ขณะเรียนรู้เซน ภูเขาไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำหลังถ่องแท้ในเซน ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ”

เส้นทางการเรียนรู้อันแยบคาย เปรียบได้กับการล่วงผ่านจากวัยเยาว์ที่มองการลบอย่างไร้เดียงสา เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็พยายามมุ่งมั่นแสวงหาเทคนิคต่าง ๆ จนกระทั่งสุดท้าย ก้าวข้ามมาถึงวัยผู้ใหญ่ กลับเป็นการกลับมาลบเมื่อผิด แม้ว่าตั้งใจทำทุกอย่างให้ถูก แต่ก็เชื่อว่าจะมีความผิดพลาด และเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับความผิดพลาดนั้นอย่างเต็มที่

การนำเสนอผลงานชิ้นนี้ของเติ้ลอาจไม่จำเป็นต้องผลิตชิ้นงาน แต่สามารถออกแบบกระบวนการเพื่อนำส่งปรัชญาที่ได้ค้นพบให้แก่ผู้ชมคนอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวความผิดพลาดและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงวิธีการรับมือในรูปแบบต่าง ๆ นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับโดดเด่นสวยงามเช่นงานคาแรคเตอร์ที่เธอคุ้นเคย แต่เป็นกระบวนการของการถ่ายเทประสบการณ์สำคัญระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

คุณเอิร์ท

หลังจากปล่อยให้ตัวเองนอนจมอยู่กับความลังเลสับสนมาระยะหนึ่ง เอิร์ทตัดสินใจกระโดดเข้าไปในพายุเพื่อทดลองทำสิ่งที่เคยตั้งใจไว้ เขาฝึกการเขียนตัวอักษร โดยเริ่มต้นจากการเขียนตัวเลข 0 ถึง 9 แม้จะทำได้ไม่คล่องมือนักและสัดส่วนยังบิดเบี้ยว อีกทั้งมีอุปสรรคมากมายเกิดขึ้นระหว่างทาง หากเขาก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝน และกำหนดเวลาเส้นตาย (Deadline) ให้กับตัวเองว่า ในแต่ละวัน ต้องทำงานให้ได้อย่างน้อย 1 แบบ

ภายใต้กระบวนการฝึกฝนที่วนเวียนอยู่ซ้ำ ๆ นี้เอง ทำให้เขานึกถึงการทำปฏิทินงานอดิเรก ด้วยการขยายตัวเลขเพิ่ม เป็น 1 ถึง 31 เพื่อเอาไว้จดเวลาเส้นตายในอนาคต

แม้การออกแบบปฏิทินจะนับเป็นผลผลิตปลายทางที่ดี แต่เนื้อหาที่น่าสนใจกว่ากลับเป็นบทสนทนาระหว่างการต่อสู้กับตัวเองของเอิร์ท ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาลอยู่ข้างใน และมันสะท้อนให้รับรู้ถึงการเดินของเครื่องยนต์ที่พร้อมจะขยับไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ใหม่ ๆ

ขั้นตอนการเดินทาง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการกำหนดทิศทาง การวางแผน การสำรวจตัวเอง ไปจนถึงการมุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อค้นหาเทคนิควิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาวิธีการเพื่อที่จะอยู่รอด

เขาอาจจะลองใช้การออกแบบปฏิทินเป็นจุดตั้งต้น และถอยหลังกลับไปหากระบวนการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งปฏิทินชุดนี้ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นวิธีการต่อสู้ที่มีได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ผลจากการต่อสู้ ยังทำให้ผู้ที่ได้รับชมผลงานรู้สึกมีความหวังและกำลังใจ เพราะไม่ว่าเขาจะมีเวลาหรือไม่มีเวลา หากเลือกที่จะให้เวลาเพื่อทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ สิ่งที่ทำก็นับเป็นการ “ใช้เวลา” คุณภาพ ไม่ใช่เรื่องของการ “เสียเวลา” แต่อย่างใด

คุณนุก

นุกทดลองทำชิ้นงานภาพวาดจากการใช้ดินสอกดสีน้ำเงินของเธอในหลากหลายรูปแบบ เช่น การวาดลงบนพื้นผิว (Texture) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระดาษไข โคมไฟ การทดลองให้เกิดการซ้อนทับกันของชั้นภาพ (Layer) การสร้างชิ้นงานที่มองทะลุได้ หรือมองได้ 2 ด้านทั้งซ้ายและขวา เพื่อค้นหาวิธีการนำเสนอที่ช่วยขับเน้นความละเอียดอ่อน และง่ายต่อการรับชมด้วยสายตา ไม่ทำให้ดูซับซ้อนเกินไป

การติดตั้งผลงานที่มีความละเอียดอ่อนมากเช่นนี้ ต้องออกแบบให้แสงเป็นเพียงบรรยากาศที่โอบคลุมรอบชิ้นงาน ไม่ส่องสว่างโดยตรง เพราะอาจจะไปรบกวนการมองเห็น ในส่วนการจัดวางเพื่อให้ผู้ชมสามารถเดินดูได้โดยรอบ อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยให้วางชิ้นงานได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน หรือการใช้กระจกช่วยส่องสะท้อน ให้มองเห็นงานในหลายมิติ

แม้ชิ้นงานทั้งหมดของนุกจะเป็นเรื่องราวเดียวกัน แต่มีวิธีการเล่าเรื่องงานแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ ที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ใช้จินตนาการและห้วงความรู้สึก ณ ขณะนั้นของตนเอง ค่อยซึมซับเก็บรับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ตรงหน้า

คุณปริม

ปริมสนใจศิลปะในฐานะของเครื่องมือและกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง เธอกลับไปทดลองฝึกเล่นเพลงที่เคยเล่นได้เมื่อสมัยก่อน ลองวาดรูปในสมุดสเก็ตช์แบบที่เคยทำ กลับพบแต่ความหงุดหงิด เพราะไม่สามารถปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาวะลื่นไหล (Flow) มีหลายสิ่งหลายอย่างที่กดทับอารมณ์อยู่ภายใน จนกระทั่งไม่อาจถ่ายทอดความคิดความรู้สึกไปสู่การลงมือทำ (Head to Hand) ได้ ถึงกระนั้นเธอก็ยังคงเชื่อมั่นในกระบวนการ (Trust the process) และมองว่าการเรียนรู้ครั้งใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้นการเคาะสนิม เพื่อรอให้บางอย่างที่ขับเคลื่อนอยู่ภายในได้ตกตะกอน โดยเธอตั้งใจจะเรียบเรียงกระบวนการที่เกิดขึ้นออกมาในรูปแบบงานเขียน

นอกจากกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองแล้ว ระหว่างการนำเสนอเรื่องราว ท่าทีในการขบคิด ตั้งคำถามกับชิ้นงานต่าง ๆ ของผู้ร่วมเรียนรู้ในชั้นเรียน ภายใต้วิธีคิดแบบศิลปินของปริม กลับมีประเด็นชวนสืบค้นและน่าลิ้มลองค้นหาคำตอบ

ก่อนที่ปริมจะเคาะสนิมทักษะที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน อาจลองเคาะทางความคิด ด้วยการใช้มุมมองทางศิลปะมาตั้งคำถามและสำรวจตัวเองผ่านเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อกลั่นกรองชีวิตและตัวตน ก่อนจะนำไปสู่การถ่ายทอดเป็นชิ้นงาน ซึ่งชิ้นงานนี้สามารถใช้ประกบกับการเคาะสนิมด้วยการนำเสนองานแบบเล่นสด (Perform) ต่อหน้าผู้ชม ทำให้ได้ผลงาน 2 ชิ้นที่มีรสชาติ

กระบวนการนี้เป็นการสร้างงานที่สามารถนำไปใช้กับเรื่องราวในชีวิตจริงได้ เพราะทุกครั้งของการเคาะสนิม ก็คือ การย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราวที่ยังคั่งค้าง และเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แม้ผลลัพธ์ในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นไปตามเหตุและปัจจัยต่าง ๆ แต่กระบวนการดังกล่าวทำให้นักสร้างสรรค์มีเวลาเตรียมตัวก่อนจะเดินทางสู่บทต่อไป

คุณออยล์

ด้วยความกังวลกับการจัดแสดงผลงาน ออยล์จึงมองว่า สิ่งที่ตนเองทำไม่มีความคืบหน้า เพราะยังไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ว่าจะนำสิ่งที่คิด รู้สึก ออกมานำเสนออย่างไร เธอคิดวนไปมาในหัวและทำงานกับตัวเองอย่างหนักหน่วงทั้งอาทิตย์ คิดว่าจะลาพักเพื่อให้เวลาตัวเองทดลองทำงาน หรืออาจจะลองไปทำงานในห้องนักบำบัด เธอคิดหาวิธีที่ทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย ด้วยการนำความคิดไปใส่ไว้ในถุงขยะจะได้มั่นใจว่าไม่มีคนเห็น พร้อมกับเขียนข้อความเพื่อขอบคุณและให้กำลังใจตัวเอง แม้ทั้งหมดจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่แค่ได้เริ่มขยับตัวทำบางอย่าง ออยล์ก็รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็มแล้ว และตั้งใจจะทำกระบวนการต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หลังจบจากชั้นเรียน

ถุงขยะในชิ้นงานความคิดของออยล์นี้ กลายเป็นสัญญะ (Sign) ที่ปรากฏชัดว่า เธอกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการทำงานกับตัวเองเพื่อจัดการกับสิ่งที่อยู่ในหัว การจัดการดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยทุกอย่างให้ผู้ชมรู้ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ข้างใน กระบวนการตั้งแต่ การใส่เข้าไป การคัดกรอง การคัดแยก ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับตัวเธอเองทั้งสิ้น ว่าต้องการให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ปิด และพื้นที่ใดเปิดสำหรับการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

พื้นที่การจัดนิทรรศการแห่งนี้ เป็นเหมือนแบบจำลองการฝึกกระบวนการเผชิญหน้ากับตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากห้องนักบำบัด การใช้สัญญะเป็นสื่อกลางในการเล่าจึงเปิดกว้างต่อการตีความและการคิดรูปแบบการนำเสนอ อีกทั้งตัวของถุงขยะปริศนาดำมืดก็นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการ ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นสาระ หากสิ่งสำคัญที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราว บรรยากาศรอบข้าง เพื่อสร้างกระบวนการคิดใหม่ ก็คือ ถ้อยคำให้กำลังใจของผู้คนที่ผ่านเข้ามาปะทะสังสรรค์ ต่อเติมความหมาย และช่วยกันส่งผ่านพลังมาสู่ตัวเราและคนอื่น ๆ

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG