Leave Your Mark: ชั้นเรียนปรัชญาชีวิต
พนิดา วสุธาพิทักษ์
หากจะหาคำนิยามใดให้กับโปรแกรมการเรียนรู้ Leave Your Mark 003
สำหรับฉัน–ในฐานะผู้บันทึกการเรียนรู้ที่ได้รับโอกาสพิเศษเข้าร่วมสังเกตการณ์ความเป็นไปในชั้นเรียน ตลอดระยะเวลาร่วม 4 สัปดาห์
ขออนุญาตให้คำจำกัดความแบบเฉพาะตัวว่า Leave Your Mark คือ ชั้นเรียนปรัชญาชีวิตที่มี ‘การออกแบบ’ เป็นเครื่องมือพาเราเดินทางเข้าสู่ประสบการณ์เฉพาะบุคคลเพื่อค้นหา ‘หมุดหมาย’ แห่งการเติบโตของตนเอง
ความเป็นปรัชญาของชั้นเรียนขนาดกระทัดรัดนี้ หาใช่การอวดภูมิรู้ หรือแสดงความสูงส่งทางศิลปะ ทว่าเป็นท่าที บรรยากาศ ของการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ที่ต่างร่วมกัน ขบคิด ตั้งคำถาม คลี่คลายแง่มุมประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ ความดี ความงาม ความจริง ซึ่งอยู่บนเส้นทางที่เราแต่ละคนล้วนต้องประสบพบเจอ
จากจุดเริ่มของการคิดค้น Side Project ส่วนตัว เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทดลองทำสิ่งใหม่ พาตัวเองก้าวออกจากกรอบการทำงานที่เคยคุ้น และแสวงหาหนทางการเรียนรู้และพัฒนาผลงานในรูปแบบเฉพาะตน เมื่อผ่านการแลกเปลี่ยนทางปัญญา กระบวนการดังกล่าวกลับค่อยๆ นำพาให้ผู้เรียนได้ขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในมิติที่ซับซ้อนและลงลึก ด้วยบทสนทนาอันเรียบง่ายซึ่งมาจากเรื่องราวชีวิตและตัวตนของแต่ละคน
การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เฉพาะบุคคลนี้เอง ที่ทำให้การเดินทางของผู้เรียนทั้ง 11 คน มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเนื้อหาและวิธีการ มีรสชาติ ความเข้มข้น หลากหลายระดับ ตามวันวัยประสบการณ์ และเหตุการณ์ที่ต้องพบเผชิญในชีวิต
เมื่อประกอบรวมเข้ากับความประณีตและพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ชั้นเรียน ของ เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล และ ทีม PS±D Facilitators จึงยิ่งทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ เต็มไปด้วยความตื่นตาและมีความพลิกผันเกิดขึ้นตามรายทาง ทั้งการนำพาการเรียนรู้ของผู้สอน และจังหวะการเคลื่อนของผู้เรียนที่แปรเปลี่ยนไป–บางครั้งก็ฮึกเหิม บางคราก็เหนื่อยล้าอ่อนแรง มีก้าว มีถอย มีความลังเล และความหุนหันพลันแล่น
การจับจังหวะชีวิต และหยิบยกแง่มุมที่เป็นรายละเอียด สิ่งละอันพันละน้อยต่าง ๆ เพื่อนำมายกระดับและพัฒนาการเรียนรู้ด้านการออกแบบร่วมกัน ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ และการสั่งสมชั่วโมงบินของทีม PS±D Facilitators และลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ กรอบคิดที่มุ่งมั่นจะสร้างเสริมประสบการณ์การออกแบบให้ผู้เรียนได้ริเริ่มและปลดปล่อยจินตนาการอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นงานท้าทายยิ่ง เพราะผู้เรียนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้มีพื้นฐานในสายงานของนักออกแบบมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้สอนได้เน้นย้ำตั้งแต่เริ่มต้น ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เป้าหมาย
การมีผลงานจัดแสดงยิ่งไม่ใช่ปลายทาง
หากแต่บทเรียนและประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างกระบวนการต่างหากที่สำคัญ
และในแง่มุมของชีวิต…การยอมรับและรู้เท่าทัน ข้อบกพร่อง ความผิดพลาดต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความหมายของการเป็นมนุษย์ ที่ยังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้และเติบโต
หมุดหมายแห่งการเติบโต
“มนุษย์ในแต่ละช่วงชีวิต มี ‘หมุดหมาย’ แห่งการเติบโตของตัวเองอยู่
เรามักหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ จากการเป็นเด็ก ก้าวเข้าโรงเรียน เรียนจบ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เรียนจบอีกครั้ง แล้วกระโจนก้าวใหญ่เข้าสู่โลกแห่งการทำงาน เพียงเพื่อจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และพานพบกับความเจ็บปวดในการเติบโตนั้น – ครั้งแล้วครั้งเล่า
Coming of Age เดิมทีใช้เรียกสภาวะที่ ‘เด็ก’ เติบโตเป็น ‘ผู้ใหญ่’ นั่นคือ Age (หรือวันวัยแห่งการแก่ตัว) ได้เดินทางมาถึงแล้ว
นี่คือช่วงเวลาอันเปราะบาง พร้อมหักพักแหลกสลาย พร้อมเกิดร่องรอยขีดข่วน สร้างบาดแผลและความบกพร่องเว้าแหว่งหลากหลายขึ้นกับชีวิต”
-Life : Editor’s Note “Coming of Age Issue”
โตมร ศุขปรีชา, Author at The 101 World
จังหวะการเปลี่ยนผ่านของชีวิต ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะบางช่วงวัยแล้วจบสิ้น
หากแต่เป็นกระบวนการที่วนเวียนกลับมาเยี่ยมเยือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายหรือความรู้สึกไม่มั่นคง
ไม่อาจกล่าวได้ทั้งหมดว่า ผู้เรียนทั้ง 11 คน กำลังอยู่ในจังหวะการเปลี่ยนผ่านของชีวิต หากสิ่งที่พอจะสัมผัสรับรู้ได้ ก็คือ ใครหลายคนเลือกเดินเข้ามายังชั้นเรียนแห่งนี้ เพื่อค้นหาพื้นที่สำหรับการเรียนรู้วิธีประคับประคองตนเองให้ข้ามผ่านช่วงเวลาอันเปราะบาง และได้ทดลองขับเคลื่อนตนเองออกจากจุดที่ทำให้ติดขัด (Struggle) เพื่อไปสู่จุดใหม่ที่เป็นหมุดหมายแห่งการเติบโต โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์งานออกแบบ (ชีวิต) เป็นมรรควิธี
ภายใต้ท่าทีที่เปิดกว้าง รับฟัง บรรยากาศการเรียนรู้ที่อบอุ่น ปลอดภัย และการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นเครื่องห่อหุ้ม ส่งผลให้ชั้นเรียน Leave Your Mark โอบรับต่อความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ การเป็นพื้นที่เล่นสนุกได้อย่างเป็นอิสระ ไร้ขอบเขต ให้กับเด็กน้อยวัย 7 ขวบ ไปจนกระทั่งถึงพื้นที่ที่พาเราสำรวจดำดิ่งลึกเข้าไปภายในของแต่ละคน
…สมุดร่างแบบเล่มเก่า ชิ้นงานที่สนิมเกาะเกรอะกรัง โครงการที่ยังค้างคา ความคิดเวียนวนไร้ทางออก ความรู้สึกที่รอการสะสาง กองความฝันที่ไม่เคยถูกรื้อค้น ความทรงจำที่อยากถ่ายถอนและบอกเล่า…
เรื่องเล่าในชีวิตหลายเรื่องที่ดูไร้สลักสำคัญ
กลับกลายเป็นพื้นที่ทดลองกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจยิ่ง
ต้นไม้ที่ไร้ประโยชน์
“สำหรับต้นไม้ใหญ่ของท่าน อันหาประโยชน์มิได้นั่นน่ะหรือ
ปลูกไว้ในที่ว่างสิ
ปลูกไว้ในความว่างเปล่า
ไว้เดินเล่นรอบๆ
ไว้พักใต้ร่มเงา
จะไม่มีใครใช้ขวานหรืออะไรไปบั่นทอนมัน
จะไม่มีอะไรไปโค่นล้มมันลง ฯ”
ตอนหนึ่งในหนังสือ มนุษย์ที่แท้ มรรควิถีของจางจื๊อ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย ส.ศิวรักษ์ ได้บอกเล่าถึงบทสนทนาระหว่างฮุ่ยจื๊อกับจางจื๊อเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง
ฮุ่ยจื๊อเปรียบเปรยว่า ต้นไม้ใหญ่ที่ลำต้นคดงอ เป็นปุ่มเป็นป่ำ ใช้การอะไรไม่ได้ ก็เหมือนคำสอนของจางจื๊อที่ช่างยิ่งใหญ่ ทว่าไร้ประโยชน์
จางจื๊อตอบกลับด้วยความข้างต้น พร้อมซุกซ่อนรหัสยนัยบางอย่างไว้ในถ้อยคำ
แท้จริงแล้วมีสิ่งใดหรือที่เรียกว่า มีประโยชน์ หรือ ไร้ประโยชน์
…
บทสนทนาระหว่างผู้เรียนและผู้สอนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน Leave Your Mark หลายช่วงหลายตอน หากนำไปไว้ในบริบทหรือพื้นที่อื่น อาจถูกหลงลืม ละเลย หรือไม่ได้รับการให้คุณค่า ไม่ต่างจากไม้ใหญ่ในทัศนะของฮุ่ยจี๊อที่เมื่อแปรรูปไม่ได้ ก็มีแต่ต้องถูกตัดทิ้งไว้ริมข้างทาง ไร้ช่างไม้ผู้ใดเหลียวแล
นั่นเพราะการดำเนินชีวิตโดยส่วนใหญ่ของคนเรา มักเคยชินกับการเร่งกระบวนการทุกอย่างเพื่อมุ่งสู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้ง่ายและเร็วที่สุด
หากกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ของทีม PS±D Facilitators นั้นแตกต่างออกไป
พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ด้านการออกแบบสำหรับทุกคน ซึ่งอยู่นอกเหนือคำวิจารณ์และการตัดสิน
กระบวนการเรียนรู้ มีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ การสำรวจ (Discover) แบบแผนความคิดและธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคน การให้ผู้เรียนได้รู้สึกนึกคิด (Feel) ใคร่ครวญ ไตร่ตรองในสิ่งค้นพบ แสวงหาแนวทาง ทดลองทำ (Do) ผ่านการปฏิบัติจริง และได้แสดงออก (Show) ถึงผลงานและสิ่งที่ได้เรียนรู้
กระบวนการเช่นนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ที่สะท้อนคุณค่าแท้จริงของการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ผลลัพธ์สุดท้ายปลายทางเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมถึงประสบการณ์และกระบวนการค้นพบด้วยตนเองของผู้เรียนแต่ละคน ผ่านการซึมซับเก็บรับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง ซึ่งเมื่อนำมาออกแบบ จัดวางตำแหน่งแห่งที่ ผ่านกระบวนการสร้างความหมายใหม่ จึงทำให้ผลประกอบการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้ง 11 คน เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และแรงสั่นสะเทือนใจ
ทิ้งร่องรอย
การออกแบบเป็นเหมือนลมหายใจที่แนบสนิทกับชีวิต
เมื่อหายใจเข้า…เราได้สำรวจและรับรู้โลกรอบตัวเปิดใจกว้างรับประสบการณ์ใหม่ๆ
เมื่อหายใจออก…เราได้สะท้อนคิดเพื่อการเข้าใจตนเอง
อาจารย์ติ๊ก-สันติ ลอรัชวี หนึ่งในผู้ร่วมเรียนรู้และทีม PS±D Facilitator เคยเปรียบเทียบว่า การทำงานสร้างสรรค์ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ที่ไม่มีเส้นชัยความสำเร็จหรือยอดเขาที่แท้จริง และการนำเสนอผลงานประกอบการเรียนรู้ในรูปแบบของนิทรรศการ ก็เป็นเพียงแค่การหายใจออก เพื่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ในการปะทะสังสรรค์ ระหว่างเรากับโลก
นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับไปทบทวนความหมายของคำว่า Leave Your Mark ถ้อยคำนี้นอกจากเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการออกแบบ ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนลองขยับออกจากตำแหน่งที่ตั้ง ในอีกแง่หนึ่ง ความหมายยังกินความถึง การทิ้งร่องรอยบางอย่าง เอาไว้ด้วย
การหายใจออกแต่ละครั้ง…ก็เหมือนกับการทิ้งร่องรอยระหว่างทาง
ร่องรอยเหล่านั้นหาได้เป็นแต่เพียงสิ่งบันทึกเรื่องราวในอดีต เพื่อนำมาตอกย้ำอัตตา หรือรื้อฟื้นความเจ็บปวดในระหว่างทางของการเติบโต
หากคุณค่าที่แท้จริงของการทิ้งร่องรอย คือ บทเรียนและประสบการณ์ที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคต
และในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ร่องรอยที่แต่ละคนได้ทิ้งไว้ในชั้นเรียนแห่งนี้ อาจกลายเป็นเรื่องราวสำคัญในกระบวนการของการเปลี่ยนผ่าน โดยมีการออกแบบเป็นพลังสร้างสรรค์ที่แทรกซึมอยู่ในการดำรงชีวิต.-
Realated Content



