Experience: EP22, Conversation with students series ตอน ผู้กำกับชีวิต (1)
บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564
ในประเทศที่มีฝุ่นควันสีเทาถ่านจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ปกคลุมบางๆ ในห้วงยามที่มวลอากาศหนาวปกคลุมประเทศ คล้ายกับหมอกในภาคเหนือ คล้ายกับสายฝนที่พบในหุบเขาภาคใต้ แต่กลับหายใจลำบากยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น เนื่องจากฝุ่นโปรยปรายเหล่านี้เป็นฝุ่นตัวเล็กน้อยเล็กจ้อยที่ปกคลุมเมืองหลวงบางๆ เทาๆ
หลากหลายผู้คนเดินกันขวักไขว่ผ่านไปมา ตามตรอกซอกซอยที่เต็มไปด้วยสำนักงาน บ้างเร่งรีบตอนถึงเวลาก่อนเริ่มงานในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า บ้างก็ต้องไปเข้าเรียนในห้องเรียนที่อยู่ห่างไกลไปไม่ถึงร้อยเมตร ต่างคนต่างหน้าที่ ต่างคนต่างความฝัน
มนุษย์ทุกคนย่อมมีความฝัน ความปรารถนาของตัวเอง แต่ด้วยอะไรบางอย่างที่ทำให้ทุกคนไม่สามารถที่จะเดินตามร่องรอยความฝันของตัวเองได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะผูกพันรัดตัวอย่างเรื่องราวของครอบครัว ค่านิยมของสังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม หรือจะเป็นระบบการศึกษาที่บดบังจนทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งหลงลืมความฝันความปรารถนาของตัวเองไป
ผมนึกถึงหนังเรื่อง Dead Poets Society (1989) ภาพยนตร์คลาสสิกผลงานการกำกับของ ปีเตอร์ เวียร์ (Peter Weir) เรื่องราวอย่างสั้นคือเรื่องราวที่เราผู้ชมกำลังถูกตั้งคำถามถึงการเลือกทางเดินในการดำเนินชีวิตของเรา ตั้งแต่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการอะไร และเริ่มคิดนอกกรอบของการศึกษาที่ต้องมีตัวชีวิตตามแบบฉบับที่เราเห็นได้โดยทั่วไป เพื่อหาคำตอบว่าเส้นทางชีวิตแบบไหนกันแน่
เรื่องราวเล่าผ่านการบอกเล่าผ่านคุณครูสอนบทกวีคนหนึ่งที่ชื่อว่า ครูคีทติ้งในโรงเรียนมัธยมปลายที่ชวนนักเรียนเฝ้าถามหาคำตอบของคำถามที่เราต้องการอะไรกันแน่ ต้องการจะใช้ชีวิตแบบไหน หรือแม้แต่ว่า เรากำลังโดนกรอบค่านิยมบางอย่างบีบรัดตัวอยู่หรือไม่
Carpe Diem (คาเปเดียม) ในบทกวีโบราณ หรือในความหมายที่ว่า ฉกฉวยวันเวลาเอาไว้ ถูกครูคีทติ้งพูดถึงบ่อยครั้ง คำคำนี้ชวนหวนคิดถึง การทำชีวิตที่มีอยู่นั้นให้มีค่าสำหรับตัวเราเอง และเป็นคำถามสำคัญที่ชวนคิดต่อถึงการกระทำว่าเราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้สิ่งนั้นได้เกิดขึ้นจริง
ชีวิตของเรานั้นเป็นของเราแค่ไหน ความฝันของเราคืออะไร มันคือค่านิยมที่คนอื่นมอบให้หรือมันมาจากเสียงเพรียกเรียกร้องจากหัวใจเราเอง ครูคีทติ้งจูงมือพาเราสำรวจชีวิตของนักเรียนสะท้อนผ่านคำถามเหล่านั้นสู่คนดู เพื่อย้อนถามตัวเองว่า สรุปแล้ว ชีวิตของเรา เรานั้นต้องการอะไรกันแน่
“Find your own walk” คือคำตอบครูกวีคนนี้ช่วยแนะแนวทางเดินตามฝันของตนให้กับนักเรียนแล้วยังบอกถึงคนดูแทนคำตอบที่ว่า ลองหาทางเดินตามฝันของตัวเองดู
“ลองเดินทางตามความฝันดู”
ประโยคนี้ชวนผมนึกถึงบทสนทนาของ บอมบ์ สกัณห์ อายุรพงค์ นักกำกับ ผู้กำกับมิวสิควิดีโอและหนังสั้น จนถึงบทบาทใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างการร่วมทำวง RAP สนับสนุนการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องเดินในเส้นทางที่ตัวเองต้องการ จากความชอบและความฝันในวัยเด็กที่มีต่อความประทับใจในภาพยนต์ การปฏิเสธงานประจำเพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้เส้นทางที่ตัวเองสามารถเดินทางกำกับหนัง เหมือนกับการกำกับชีวิตตัวเอง
และด้วยเส้นทางที่ตัวเขาเลือกเดินนี้เองทำให้พานพบกับการออกแบบที่ทำให้ความหมายของศิลปะของเขาที่เห็นได้บ่อยในตัวจังหวัดเชียงรายนั้น ขยับขยายขอบเขตของงานศิลปะจากแค่จิตกรรมฝาผนังที่เห็นในวัยเยาว์จนมาสู่ศิลปะแบบอื่นๆอย่างที่เขาชอบ เช่นการทำหนังสั้น การกำกับมิคสิกวีดีโอ
ลองเดินตามความฝันดู ฉกฉวยชีวิตของเราเอาไว้
เราสามารถที่จะออกแบบความฝันและชีวิตตัวเองได้
ครูคิทติ้งและบอมบ์ บอกกับเราเช่นนั้น