Experience: EP16, Conversation with students series ตอน นักออกแบบการสอน

บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564

       เคยได้ยินใครบางคนบอกไว้ว่า คนที่ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นดูแลต้นไม้ก็ไม่รอดเปรียบเหมือนกับคนมือร้อน
คิดว่าตัวเองก็เป็นคนมือร้อน

       ครั้งหนึ่งในตอนที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสได้เลี้ยงต้นกระบองเพชร วางกระถางไว้นอกระเบียงบนตึกภาควิชา ตรงตำแหน่งที่สายลมแสงแดดโรยรินพาดผ่านในตอนเย็น เป็นแสงสีเหลืองทองอ่อนๆ ก่อนดวงตะวันจะลาลับขอบฟ้า และก่อนที่ดวงจันทร์จะขึ้นมาทำหน้าที่ในตอนหัวค่ำ 

      ด้วยความหลงๆ ลืมๆ และได้มีโอกาสไปทำค่ายอาสาฯ ที่ทำกิจกรรมอยู่ห่างไกล แล้งร้างในหุบเขาซ้อนหุบเขากลางหมอกสีเทาปกคลุมทั่วเขา ในที่ที่สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี ในช่วงเวลาที่การงานบนนั้นถาโถมเฉกเช่นหมอกควัน

      ผมลืมต้นกระบองเพชรที่วางไว้บนระเบียงเสียสนิททิ้งมันเอาไว้ซ่อนเร้นในหมู่ต้นไม้ประดับนอกระเบียงตากสายลมแสงแดดฝนพรำที่ตกตลอดในช่วงนั้น ตอนที่ผมอยู่บนเขาสูงที่ไม่มีฝนตก 

     จนเกือบครึ่งเดือนให้หลัง จึงได้พบว่าต้นกระบองเพชรบวมน้ำฝน เน่าเฉาตายไปในดงต้นไม้ประดับข้างระเบียบนั้นเอง

    เรื่องกระบองเพชรนี้เองชวนนึกถึงตำแหน่งแห่งที่ของวิธีการเรียนรู้ในห้องเรียนมิใช่น้อย

     เปรียบเทียบอย่างสั้นๆ ง่ายๆ การเรียนรู้ของคนเราเหมือนกับพันธุ์ไม้ที่มีจำนวนมากมายในโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้ เชื่อเช่นนั้น เชื่อว่าแต่ละตำแหน่งแห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้แต่ละพันธุ์ ไม่ใช่ทุกพันธุ์จะเจริญเติบโตขยายกิ่งก้านสาขาได้ทุกที กลับกันแล้วมันกลับขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่พันธุ์ไม้นั้นจะเจริญเติบโตได้ดีต่างหาก

      เหมือนกับพันธุ์ไม้ การเรียนรู้ของคนเราต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่ต่างกันไปสำหรับการเติบโตทางความคิด

      มด – อครพล กฤตฤานนท์วงศ์ คืออีกคนที่มีตำแหน่งแห่งที่ในการเรียนรู้ต่างจากเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ด้วยแนวความคิดที่ว่าฝีมือศิลปะไม่เท่ากับเพื่อนๆ เลยต้องลงแรงไปกับการให้เห็นถึงความสำคัญของความคิดก่อนที่จะเริ่มกระบวนการออกแบบ ร่วมทั้งการฝึกฝนนอกห้องเรียน เรียนรู้ผ่านตำรับตำราในห้องสมุดในหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียนแล้วพบว่า ขอบเขตของการออกแบบขยับขยายไปมากกว่าที่เคยรู้จัก

      สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นก็คือ ขั้นแรกในการเรียนเป็นการปรับทัศนคติที่มีต่อกระบวนการออกแบบ ขั้นต่อไปคือการขยับขยายรูปแบบของงานออกแบบ และขั้นสุดท้ายในสถานภาพอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนจากการออกแบบรูปแบบของหลักสูตรโดยการดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมา โดยหลักสูตรต้องยอมรับตัวผู้เรียนให้ได้

      ขั้นสุดท้ายนี้เองที่ชวนตั้งคำถามถึงการออกแบบวิธีการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่ชวนออกแบบการเรียนรู้ตามความถนัดของผู้เรียน มากกว่าการสร้างกรอบจำลองของฟันเฟืองในอุตสาหกรรมซ้ำๆ  วกวน และมีแบบแผนที่เพียงเพื่อป้อนนักศึกษาเข้าตลาดแรงงาน  

       เหมือนกับพันธุ์ไม้ บางคนอาจจะเติบโตจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน บางคนอาจจะเรียนรู้จากตำราเรียน หรือฟังเรื่องเล่าจากคนอื่น

       บางคนแม้จะมีโอกาสในการเรียนรู้เยอะดั่งพืชพันธุ์ที่ได้รับแสงแดด มีบรรยากาศในการเรียนที่ดี แต่ก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้มากมายนัก

แม้กระทั่งบางคนแม้อับเฉา ไร้แสง ตลอดจนบรรยากาศในการเรียนรู้ กลับสามารถเรียนรู้ฝักใฝ่วาดฝัน ไม่หยุดตั้งคำถามไม่หยุดที่จะเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต

       เหมือนกับพันธุ์ไม้ , เมื่อเราอยากเห็นชีวิตงอกงาม เราเลือกเองได้ เราเคลื่อนย้ายได้ เลือกรับสายลมแสงแดด 

       บ่อยครั้งที่ผมนึกถึงต้นกระบองเพรชต้นนั้นอยู่บ่อยๆ หากมันสามารถออกแบบชีวิตเองได้เหมือนกับมนุษย์ แต่มันเลือกไม่ได้

   เหตุนี้มนุษย์จึงแตกต่างจากพันธุ์ไม้  เพราะว่า จะมีทางเลือกใดที่สวยงามมากกว่าการได้เลือกทางเดินชีวิตและออกแบบมันด้วยตัวเองได้อยากให้ลองรับฟังเส้นทางของนักเรียนคนหนึ่งซึ่งเติบโตงอกงามมาเป็นนักเลี้ยงต้นกล้าหลากพันธุ์ทางการออกแบบ 

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG