Exchange: EP24, When We Talk About Design ตอน Leave Your Mark

บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564

น่าจะเป็นเพราะหนังสือ 

คำตอบนี้คิดว่าใช่ น่าจะตรงสุด น่าจะเพราะหนังสือ ไม่ใช่เพราะเสนาธิการหลังม่าน กุนซือสงคราม ที่ปรึกษา ครูแนะแนว  หรือไลฟ์โค้ช ที่บางครั้งก็ฟังบ้าง แต่ค่อนไปทางไม่เชื่อ ไม่ยึดถือ น่าจะเพราะหนังสือที่ทำให้ผมค้นพบตัวเองว่าชอบเส้นทางนี้ เปิดประตูแรกเริ่มสู่โลกอารยะ ด้วยงานศิลปะจากตัวอักษร จนรู้จักตัวเองว่าชอบไม่ชอบอะไร

น่าจะเป็นเพราะหนังสือ ที่ทำให้ผมหลุดออกจากกรอบหลักสูตรสร้างคน ที่เสมือนกับเครื่องจักร ได้คนที่มีรูปแบบการทำงานคล้ายๆ กัน ออกมาจากโรงงาน มาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

หนังสือจำเป็นแน่ๆ สำคัญแน่ๆ ต่อกระบวนการคิด ต่อการเปิดโลกทัศน์ ต่อการตั้งคำถามต่อความสงสัยใคร่รู้ของคนแต่ละคน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับทุกคนที่จะรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองจากการอ่านหนังสือ

เหมือนกับที่เวลาเรารู้สึกป่วย เราต้องเลือกยาให้เหมาะกับอาการของตน ไม่ใช่ปวดท้อง ปวดหลัง แล้วเรียกหาแต่พาราเซตตามอล ไม่ใช่ยืนหยัดในวัคซีนเชื้อตายประเภทเดียว ยืนหยัดว่าดีกว่าประเภทอื่น

มนุษย์มีสิทธิเลือกได้ เป็นอิสระต่อการถูกบังคับ นั้นน่าจะเป็นนิยามหนึ่งของความเป็นมนุษย์

เช่นเดียวกันกับ พิชาญ สุจริตสาธิต ค้นพบตัวเองจากการได้ลงมือทำ ลงมืดฝึกฝนวาดรูป จนไม่ได้วกกลับไปในเส้นทางของสายวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรการศึกษา

อยู่ผิดที่ ผิดทาง เขาบอกไว้ในบางช่วงบางตอนของการสนทนาในหัวข้อของการเลือกเรียน เลือกเส้นทางเดิม ต่อมาความคิดด้านการเรียนของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นการเรียนรู้จากความสนุกของตัวเขาเอง ไม่ได้อยากเรียนแค่ในห้องเรียน เลือกเรียนตามความสนใจและเลือกเรียนจากสิ่งที่ไม่ค่อยรู้

เขาใช้ความอยากสงสัยใครรู้เพื่อตามหาคำตอบ หาความเป็นไปได้ใหม่ๆในการทำงาน โดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองชอบ อยากนำมาใช้ทำเอง แล้วผสมผสานกับความอยากรู้ว่างานที่เรากำลังจะทำนั้นสามารถใช้กระบวนการใดได้บ้าง เป็นการออกแบบการทำงานที่มีพื้นฐานจากความชอบของตน

พิชาญบอกต่อว่า จริงๆ แล้วการประกอบอาชีพของคนเรา หรือการทำงานของพวกเรานั้น ไม่จำเป็นต้องมีกรอบที่ชัดเจนว่าถ้าหากชอบการถ่ายภาพ ก็จำเป็นต้องถ่ายภาพอยู่อย่างเดียว หากแต่ว่า เราสามารถที่จะทำอย่างอื่นประกอบการทำงานหลักไปด้วยได้ 

เขายังกล่าวอีกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดกรอบค่านิยมสำหรับแต่ละอาชีพว่าต้องทำแค่ในกรอบของตน แต่คนก่อนยุคนั้น เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี นักดาราศาสตร์ ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ และนักออกแบบ ยังสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ได้มีกรอบอาชีพชัดเจนว่าตนต้องเป็นอะไร ทำงานในโรงงานสาขาอาชีพโดยเฉพาะ

ใช่ ความถนัด ความชอบของตนเองมันควรจะแล้วแต่เลือกที่จะทำ เลือกที่จะเป็นได้ เลือกจากความอยากรู้อยากเห็น เชื่อในสิ่งที่ตนลงมือลงแรง 

มากกว่าการอยู่ในกรอบที่คนอื่นอยากให้เราเป็น กลับกันแล้วการออกแบบตัวเองด้วยคำถามที่เริ่มจากตัวเองชอบอะไรกันแน่ อาจจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบสำหรับโลกทุกวันนี้ที่มีกรอบแปะป้ายว่าเราควรเป็นใคร ควรเป็นนักออกแบบแบบไหนกันแน่

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG