Exchange: EP15, Think Global Act Local

บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564

เชื่อว่า ไม่มากก็น้อย หลายคนเคยต้องแก้ไขปัญหาที่ซ้อนทับกันมากมาย และบางปัญหาที่หากเราค้นพบปัญหาอื่นๆ ที่หลบซ่อนอยู่ในนั้น เชื่อว่าเรายิ่งปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นแน่ บางปัญหาก็จำเป็นที่ต้องทำการสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง เพียงเพื่อที่จะทำให้กระบวนการทำงานดำเนินต่อไปได้ การออกแบบการพูดคุยเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกันทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เวลาที่เราต้องทำงานลงชุมชน หรือ การทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม

ในบางช่วงบทสนทนา มีใครบางคนอ้างถึงประโยคที่ โจน จันใด เคยบอกไว้ประมาณว่า ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนคนที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยน คนที่พร้อมจะเปลี่ยนจะเข้าหาเราเอง

ใครบางคนที่ว่าก็คือ อุ้ง – กมลนาถ องค์วรรณดี หรือในบทบาทที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน ในบทบาทของนักประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย เธอบอกต่ออีกว่า การสื่อสารต่อคนแต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน หาทางเข้าให้เหมาะกับแต่ละคน เราต้องเข้าใจและรู้ว่าคนที่กำลังฟังเขาอยากฟังอะไร พูดในสิ่งที่เขาอยากได้ยินก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มข้อมูลให้กับพวกเขาไป

อุ้งเน้นย้ำเพิ่มเติมว่า นอกจากคำพูดแล้ว เรายังสามารถใช้การกระทำแทนการบอกกล่าวด้วยแนวคิดที่ว่า เราไม่ได้มีหน้าที่ต้องเปลี่ยนใคร เพียงแต่การทำให้เห็นนั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว

นอกจากการพูดคุยเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างตัวเราและคนอื่นที่อาจจะเห็นต่างจากตนเองเพื่อเป็นด่านแรกในการแก้ปัญหาสังคมแล้ว ความคิดริเริ่มเพื่อแก้ปัญหา โดยเริ่มจากการพัฒนาสิ่งที่ตนเองพอมีอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นึกออกใช่ไหมว่า บ่อยครั้ง เรามักจะนึกถึงสิ่งของสิ่งใหม่ๆ แทนที่จะหวนกลับไปนึกถึงสิ่งของที่เรามีอยู่แล้ว

คำถามง่ายๆ อย่าง “รู้หรือเปล่าว่าใครคือผู้ผลิตเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่” #WhoMadeMyClothes เป็นโครงการที่ทำการสำรวจการใช้งานที่แท้จริงของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยริเริ่มคำถามจากแหล่งที่มา เพื่อเป็นประตูด่านแรกของการสร้าง ‘แฟชั่นยั่งยืน’ ที่มิได้หมายถึงเสื้อผ้าที่ไม่สามารถสูญสลายไปได้แต่กลับหมายถึงการใช้ซ้ำหรือสวมใส่เสื้อผ้าตัวหนึ่งนั้นให้คุ้มค่า โดยได้รู้ถึงที่มาและกระบวนการสร้าง

นอกจากจะรู้ถึงที่มาของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่แล้ว ยังมีการรณรงค์ ให้รู้จักการนำเสื้อผ้ามือสองมาใช้งานแลกเปลี่ยนกันเพื่อเพิ่มความยั่งยืนให้กับเสื้อผ้าที่เราใส่เพียงไม่กี่ครั้ง การแปรเปลี่ยนจากคนไม่กี่คน ด้วยแนวคิดที่ให้ล่วงรู้ถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆของเสื้อผ้าที่สวมใส่

ใช่หรือไม่ว่า ในบางครั้ง หากเราเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปจากสิ่งเล็กกลับนำไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ พวกเราน่าจะยั่งยืนและยืนหยัดได้ไม่ยาก

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG