Exchange: EP11, Let’s talk about poster
บทบันทึกจากการสนทนา PS±D Night Club เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564
ในแง่หนึ่ง มนุษย์อาจหมายถึงการพัฒนา เรียนรู้ เดินหน้า ไม่ถอยหลัง รวมถึงการออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ
มนุษย์ย่อมไม่ได้หมายถึงสิ่งที่อยู่กับที่ ยอมอยู่คง ยึดโยงกอดรัดความหมายใดความหมายหนึ่งจนโดดเด่นกว่าความหมายอื่น มนุษย์จึงไม่อาจออกแบบตัวเองเพื่อเยียบย่ำสิ่งอื่นให้จมลึกลงต่ำ
มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีจุดเด่นด้านการเรียนรู้ จดบันทึก และการหาวิธีการสื่อสารกัน เพื่อการพัฒนาการแบบรวมกลุ่ม หรือ รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนา อภิวัฒน์ สู่ชีวิตที่ดีกว่า
พัฒนาการของมนุษย์ด้านการสื่อสารจึงเป็นอีกเรื่องที่น่าพูดถึง
นับตั้งแต่อดีตจากการตะโกนเพื่อบอกข้อมูล จนพัฒนามาเป็นแผ่นกระดาษที่ไว้สำหรับการแปะป้ายไว้บอกข้อมูลเพื่อที่จะได้ไม่ต้องป่าวประกาศตลอดเวลา และเพื่อที่จะให้ข้อมูลสามารถที่จะป่าวประกาศสารได้ตลอดเวลาที่ตัวแผ่นป้ายยังอยู่ สิ่งนี้เรียกกันว่า ‘โปสเตอร์’ คือสิ่งที่ไว้บอกข้อมูลและสามารถเข้าถึงผู้รับสารได้โดยง่าย โดยไม่ได้มีคนบอกเล่า
โปสเตอร์ในยุคแรกเกี่ยวข้องกับการโฆษณา ขายของ เช่น ยา เครื่องดื่มจวบจนถูกพัฒนามาเป็นการแสดงข้อมูลในหน้าจอของเรา ผ่านภาพขนาดไม่ตายตัว แต่สามารถบอกเล่าข้อมูลได้ในขนาดพื้นที่จำกัด
ในประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าบริเวณสถานีรถไฟ ภายในอาคาร ร้านค้า จะที่มีพื้นที่ให้ติดโปสเตอร์ไปทั่วเมือง ต่างจากบ้านเราที่หาพื้นที่ในการติดโปสเตอร์ได้ยาก ซึ่งเรามักจะเห็นตามแนวรถไฟฟ้า หรือจะเห็นแบบแสดงข้อมูลตามหอศิลป พื้นที่สาธารณะที่ใช้จัดงานที่ยังพอมีอยู่บ้าง
โปสเตอร์อาจพอสะท้อนวัฒนธรรมของแต่ละประเทศออกมาว่าประเทศของตนนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นสำคัญ จะเห็นได้จากข้อมูลบอกเล่าผ่านโปสเตอร์ที่เป็นแผ่นกระดาษก็ดี หรือบอกเล่าผ่านหน้าจอก็ดี
มากน้อย เล็กใหญ่ การสื่อสารผ่านโปสเตอร์ที่เราเห็นกันบ่อยก็ชวนคิดมิใช่น้อยเลยว่า สังคมเราให้ความสำคัญกับอะไร และการที่ไม่ได้เห็นตัวโปสเตอร์บอกเล่าบางเรื่อง ก็ทำให้เห็นและชวนคิดว่าสังคมเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับอะไรกันแน่
แน่นอนว่าประชาชนทั่วไป ไม่ค่อยได้เห็นผ่านตัวป้ายโปสเตอร์ในสังคมเราเท่าไรนัก จึงเป็นคำถามที่ควรค่าแก่การพินิจพิจารณาถึงความสำคัญของสิ่งสำคัญในสังคมเราเป็นอย่างยิ่ง
สุดท้ายขอเชิญรับฟังนักออกแบบสนทนากันเรื่องโปสเตอร์ ณ บัดนี้