EveryOne-O-One (2024) : Class Note #4

บทความนี้เป็นบันทึกการเรียนรู้ จากห้องเรียน EveryOne-O-One วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2567
บันทึกโดยคุณณัฐชยาพร แสงคำ (EveryOne-O-One : Note Taker)

EveryONE-O-ONE week 04:
EveryOne-O-2 : แยก-เยอะ-แยะ

Host: สันติ ลอรัชวี (ติ๊ก)

เกริ่นเนื้อหาสัปดาห์ก่อน

สัปดาห์นี้มีผู้ร่วมกิจกรรมแบบรายครั้งมาเพิ่ม 2 ท่าน คนแรกคือคุณมายด์ที่บังเอิญเป็นรุ่นน้องมหาวิทยาลัยของอะตอม Note Takers (โลกกลมมาก)  ปัจจุบันน้องทำงานอยู่องค์กร Non-profit แห่งหนึ่งกับอีกท่านคุณบอมเป็นเจ้าของธุรกิจห้องพัก ในช่วงต้นของคลาสอาจารย์ติ๊กเลยทบทวนเนื้อหาสัปดาห์ก่อนกันสั้น ๆ ให้แก่ทั้ง 2 ท่าน

รู้จัก Tokujin Yoshioka

Tokujin Yoshioka ศิลปินญี่ปุ่นที่มักจะหยิบจับธรรมชาติมาจัดวางใหม่ในรูปแบบของงานออกแบบหรืองานศิลปะเพื่อสร้าง Perception ให้แก่ผู้ชม เขาไม่ได้ต้องการผลิตซ้ำทางวิทยาศาสตร์ ต้องการให้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ สามารถชมผลงานได้ที่ https://www.tokujin.com/

  • ผลงานแรกที่อาจารย์ติ๊กยกมาพูดถึงคือ Sensing Nature เมื่อปี 2010 ผลงานนี้นำคอนเซปต์ของหิมะมาจำลองขึ้นใหม่ด้วยขนนกสังเคราะห์ ให้ผู้ชมได้รู้สึกราวกับยืนดูหิมะในตู้กระจก สร้างสุนทรีย์อีกแบบในการรับชมเพื่อต้องการให้ผู้ชมตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ใหม่บางอย่าง
  • Tornado ผลงานชิ้นนี้ใช้หลอดใสเพื่อสร้างความรู้สึกให้เหมือนผู้ชมกำลังเข้าไปอยู่ท่ามกลางไดนามิกอันแปรปรวน
  • Spectrum นำปรากฏการณ์รุ้งมานำเสนอด้วยการใช้คริสตัลกระจายแสงให้รุ้งได้อาบคนดู ผลงานหลายชิ้นของโทคุจินมีความเป็นกวีแฝงอยู่ ไม่ใช่เพียงให้เรายืนดูแต่พาเราเข้าไปอยู่ในงาน 
  • Tokyo 2020 Olympic Torch ซากุระ เขาออกแบบโดยใช้หลักการ 10 ประการของ Dieter ครบทุกข้อ ได้รับแรงบันดาลใจจากตอนที่ไปทำเวิร์กชอปฟื้นฟูเมืองฟุกุชิมะกับเด็ก ๆ ภาพวาดของซากุระจากเหล่าเด็ก ๆ นั้นสดใสและสื่อถึงจิตวิญญาณของผู้คนที่ต้องการจะฟื้นฟูเมือง ในตอนนั้นภัยพิบัติทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องการแรงใจมาก ๆ และเขาเลือกซากุระนี้เป็นตัวแทนในการออกแบบคบเพลิงงานโอลิมปิก เลือกใช้อัลลูมินัมที่หลอมในช่วงฟื้นฟูฟุกุชิมะเพื่อพูดถึงการเยียวยา การกลับมาใหม่ ความหมายทุกอย่างลงตัวไปเสียหมด

จากตัวอย่างข้างต้นทั้งหมดงานของโทคุจินมีความเป็นธรรมชาตินิยมมาก เขาย้อนกระบวนการเพื่อมาผลิตซ้ำในแบบที่อยากให้เป็น

เกี่ยวกับ Categorization

เนื้อหาในวันนี้เกี่ยวกับหลักการคิดแบบวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์มากกว่า แต่ว่าเราจะหาประโยชน์จากแนวคิดได้แค่ไหน อย่างที่เคยเกริ่นในหลายคลาสก่อนหน้าว่าทฤษฎีของงานออกแบบนั้นจะมาจากการสะสมประสบการณ์เพื่อมาประยุกต์ใช้เสียส่วนใหญ่

กิจกรรมแยก-เยอะ-แยะ จะเป็นการสร้างฐานด้วยการฝึกให้ทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วย mindset ใหม่ มีเป้าหมายที่จะแสดงให้เห็นว่าเราสำรวจโลกใบนี้อย่างไร ถ้าเราเริ่มต้นมองโลกด้วยมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นผลลัพธ์ย่อมออกมาแตกต่างเช่นกัน เหมือนกับในดราม่าซีรีส์ชื่อ Izakaya Bottakuri เรื่องราวของนางเอกที่รับช่วงต่อร้านอิซากายะจากพ่อ เธอรู้สึกว่าเธอกำลังขายอาหารที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ในความรู้สึกของนางเอกรู้สึกว่าอาจดูเอาเปรียบลูกค้า จึงทำให้เธอเลือกที่จะใส่ใจรายละเอียดในการจัดเตรียมอาหารให้ทำให้ร้านโดดเด่นออกจากร้านอื่นCategorization ตามนิยามตรงตัวคือการแบ่งของออกเป็นกลุ่มตามคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เป็นวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์  หากมองในอีกนิยามว่า Place in a particular class or group หรือจัดวางในกลุ่มอย่างเจาะจง อาจารย์ติ๊กมองว่านิยามนี้ทำให้เปิดกว้างทางความเป็นไปได้ขึ้น เรื่องนี้สำคัญในกระบวนการออกแบบเพราะจะช่วยให้เรามองโลกได้อย่างเมคเซนส์ขึ้น โดยธรรมชาติของมนุษย์มีกระบวนการคิดที่คอยแยกประเภทอยู่แล้วเพื่อให้เราจัดการหรือทราบถึงอันตรายของสิ่งนั้นได้ เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การคัดแยกยังช่วยเราในอีก 8 มุม

  • Organizae information in a meaningful way ช่วยให้เราจัดระเบียบข้อมูลได้มีคุณค่ากับตัวเรามากขึ้น มีประโยชน์มากกับการพัฒนาแบรนด์
  • Identify similarities and differences แยกสิ่งที่คล้ายหรือต่างกันได้
  • Better Understanding พอเราแยกแยะได้เราจะเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้น
  • Uncover new relationships, analogies, and metaphors ฝึกกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ หรือเห็น metaphor ใหม่ คุณต้องมีจินตนาการหรือประสบการณ์บางอย่างเพื่อเชื่อมโยงสิ่งใหม่แบบเปรียบเปรยได้ เป็นทักษะพื้นฐานที่จะช่วยให้คนเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
  • Provide a structured framework กำหนดขอบเขตของงานได้
  • Concept into manageable parts ให้ความหมายว่าสิ่งนี้อยู่ตรงนั้นได้อย่างไร เช่น ใน  Game of Thrones จะเห็นการจับกลุ่มตัวละครย้ายไปนู้นมานี้ด้วยเป้าหมายต่าง ๆ
  • Create opportunities for cross-pollination of ideas สร้างโอกาส หรือ กฏระเบียบ เพื่อที่ไอเดียที่ต่างกันมาหลอมรวมกันได้เมื่อเราเห็นความสัมพันธ์
  • Easy to share and collaborate เมื่อเราเห็นข้อมูลใหญ่มาก ๆ ขึ้นเราก็จะร่วมงานกันได้ง่ายขึ้นมากกว่าการโยนข้อมูลก้อนใหญ่ไปกลางวงสนทนาแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ

Unlocking the world of keys 
กิจกรรมครึ่งแรก: กิจกรรมกลุ่มที่  1

กุญแจ จะพาเราเชื่อมไปยังคำอีกหลายคำจึงเป็นที่มาของชื่อกิจกรรมในวันนี้  บนโต๊ะมีไพ่วางคว่ำอยู่มากมาย อาจารย์ติ๊กให้ทุกคนพลิกหน้าไพ่ทั้งหมดหงายขึ้น หลังจากนั้นภายในระยะเวลาไม่เกินสิบนาทีให้รวมกลุ่มกันทั้งคลาสจัดกล่มภาพกุญแจบนโต๊ะว่าแบ่งเป็นอะไรได้บ้าง แบ่งได้กี่กลุ่ม ก่อนย้ายไพ่มารวมตามประเภทเป็นกลุ่มตามที่กำหนดกันเอง

แรกเริ่มคุณแก้วเลยเสนอแบ่งตามวัสดุ คุณมายด์เสนอแบ่งตามการไขผ่านแม่กุญแจหรือผ่านสิ่งนั้นได้เลย คุณบอมเสนอว่าลองแบ่งตามรูปทรงกับรูปแบบ คุณน้ำอุ่นเสนอแบ่งตามประเภทหัว คุณแอลเสนอรูปร่างของกุญแจว่าเป็นเหลี่ยม กลม สามเหลี่ยม และอื่นๆ ทุกคนลองเรียงตามระดับความเหลี่ยมของหัวกุญแจกันไปเรื่อย ๆ ก่อนหมดเวลา ซึ่งทุกคนทำออกมาเป็นสเปคตรัมเรียงจากเหลี่ยมไปกลมและพบว่ามีบางอันไม่เข้ากลุ่ม

โจทย์ถัดมาอาจารย์ติ๊กจึงให้ทุกคนช่วยกันแบ่งกลุ่มใหม่โดยไม่ให้มีกุญแจอันไหนตกหล่นเลย ให้คำใบ้ว่าทุกคนต้องช่วยกันหาคำที่เจาะจงมากขึ้น

ทุกคนกลับมาเริ่มด้วยการพูดคุยกันก่อนจะลงมือย้ายไพ่ ถกรูปแบบการแบ่งตั้งแต่แบบกลม แบบแบน มีหยักสองด้านกับด้านเดียว และมีคนสังเกตถึงลายสลักว่าเป็นตัวอักษรกับตัวเลขหรือไม่มีเลย คุณน้ำอุ่นมาจับสังเกตที่ตำแหน่งที่ตัวหนังสือสีขาวด้านล่างของไพ่จัดวางอยู่  ซึ่งรูปกุญแจในไพ่จะเอียงองศาต่างกันตามประเภทตำแหน่งของตัวหนังสีขาว ทุกคนจึงลงมือลองวางไพ่ตามตำแหน่งของตัวหนังสือ และได้กลุ่มที่ไปในลักษณะเดียวกันโดยไม่มีการ์ดใบไหนตกหล่น

จากทั้งสองโจทย์ โดยธรรมชาติไอเดียแรกที่ได้มักเป็นเข้าหาสิ่งที่คุ้นเคยก่อน แต่เมื่อโจทย์ถูกยกระดับและแนวทางที่เลือกแบ่งกลายเป็นเรื่องของตำแหน่งข้อความ ถือว่าไปได้ไกลมาก วิธีการที่เราเข้าหาคำตอบเหล่านี้ล้วนนำใช้ในการรีเสิรชได้ เช่นนึกถึงกุญแจก็จะไม่ได้นึกถึงเพียงกุญแจอย่างเดียว แต่นึกถึงอย่างอื่นที่ไกลกว่านั้นมาเชื่อมโยงได้ การแบ่งประเภทสามารถแบ่งได้ใหญ่ ๆ เป็นสามกลุ่มก้อนดังนี้

  • Content กุญแจนี้เป็นอย่างไร คนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร Context หรือตัวบท ดูที่บริบทรอบมันแทน เช่นกุญแจที่อยู่ในรถหรือในบ้าน Intertexuality โยงสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องดูเช่นวัตถุที่กุญแจเข้าไปไข บริบทใดที่มีปฏิสัมพันธ์กับกุญแจ
  • What, When, Where, How, Why คืออะไรเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรและทำไม
  • Physical Appearance, Time / Occassion, Place / Position / Direction, Process, Purpose กระบวนการไขแล้วหมุน ไขแล้วไม่ต้องคืน ไขกับประตู องศาที่กุญแจในภาพเอียง นับเป็น Physical Appearance ได้ แม้อาจดูไกลจากหน้าตาของกุญแจ

กิจกรรมเดี่ยว

ให้ทุกคนเลือกกุญแจที่คิดว่าเป็นตัวเรามากที่สุด 1 ใบ และบอกสาเหตุที่เลือก

  • คุณแก้ว สวยมีที่บ้าน
  • เบส เก่าดูมีเรื่องราว
  • ส้ม เก่าแล้วก็ไม่รู้ใช้ยังไง
  • น้ำอุ่น เก่าแต่เหมือนกุญแจบ้าน
  • แค๊ท ชอบรูปทรงหลายมิติหลายเท๊กซ์เจอร์
  • แอล ไม่มีหยัก
  • มายด์ ชอบที่มีความเป็นกุญแจมาก
  • บอม เรียบดี
  • ไมเคิล เหมือนไม้กางเขน

จากในเอกสารเนื้อหาสัปดาห์ก่อนที่ให้กลับไปอ่านเรื่อง Thinking Map ให้ทุกคนทำ Circle map เกี่ยวกับกุญแจที่เป็นศูนย์กลางวง

  • กุญแจคุณแอล หากอยู่ในวงกลมคิดถึงอะไรบ้างเช่น หน้ายิ้ม ร้านขายของวินเทจ ไม้กับทองเหลือง เดินแล้วกรุ๊งกริ้ง เครื่องบิน ป้ายบอกทาง วงเวียน เป็นการระดมความคิดเพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปได้ แปะโพสอิทรอบ ๆ
  • กุญแจคุณแค๊ท ดอกไม้ รถยนต์ สีทอง ไขควง ลิควิดสมัยเด็ก ที่บิดขนมปัง เสียงสตาร์ทเครื่อง ล็อกได้แข็งแรง 

เมื่อมีวงกลม 2 วงเราจะใช้ Bubble Map เพื่อเทียบว่าหัวข้อใดทับซ้อนกัน เห็นข้อดีข้อเสียร่วมกันว่ามีอย่างไร หรือหากเปรียบของเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งไว้ ก็อาจค้นพบถึงความเป็นไปได้ที่จะโยงกับ Metaphor ใหม่ได้ เนื่องจากการจะคิด Metaphor นั้นคุณต้องมีประสบการณ์บางอย่างก่อนถึงจะเริ่มเชื่อมโยงเปรียบเปรยออกมาได้ และวิธีในกิจกรรมข้างต้นคือการเค้นความคิดเพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงกัน

กิจกรรมกลุ่มที่ 2

ให้ผู้เรียนจับกลุ่มกลุ่มละ 3 คน รวมทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยพิจารณาจากกุญแจที่เลือกไปพร้อมตั้งชื่อกลุ่มด้วย

  • เก๋าเก๋า ประกอบด้วยคุณแอล คุณแก้ว คุณเบส เพราะว่ากุญแจที่ทั้งสามคนเลือกมาเป็นทรงวินเทจ เก่า ๆ 
  • ดีไซน์ Weird Weird ประกอบด้วยคุณแค๊ท คุณไมเคิล คุณส้มเพราะดีไซน์กุญแจที่มีแปลกกว่าคนอื่น
  • เจ้าของบ้าน ประกอบด้วยคุณบอม คุณมายด์ คุณน้ำอุ่น เพราะกุญแจที่มีในมือต่างดูเหมือนกุญแจบ้าน

เมื่อได้กลุ่มเรียบร้อยทุกคนคืนการ์ดกลับไปที่กองกลาง หลังจากนั้นให้แต่ละกลุ่มหยิบการ์ดจากไม่เกิน 15 ใบ ภายใต้คอนเซปต์รูปที่แสดงบนโปรเจคเตอร์ แล้วจัดกลุ่มการ์ดที่ตัวเองเลือกมา

ภาพแรก ชายหาดที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน

  • เก๋าเก๋า จัดกลุ่มจากหลายปัจจัย มีทั้งจากการใช้งาน บิดมอไซค์มาหาด, เรียงตามสีผิวแทนค่าบุคคลในภาพ, แบ่งตามวัย; แก่ กลางคน เด็ก
  • ดีไซน์ Weird Weird จัดกลุ่มแยกตามประเภทมีห่วงคล้อง, ไม่มีห่วงคล้อง และ ไม่มีรู
  • เจ้าของบ้าน จัดกลุ่มตามคอนเซปต์ตู้ล็อคเกอร์เก็บของของคนที่มาหาด

ภาพที่สอง ขยะอิเลคทรอนิกส์

  • เก๋าเก๋า แบ่งจากร่องรอย รอยขูดขีดต่างๆ
  • เจ้าของบ้าน ตีความจากขยะ ว่างเป็นสิ่งของที่ไม่ใช่งานแล้วจึงแบ่งตามกุญแจที่ไม่น่าเห็นการใช้งานแล้ว 
  • ดีไซน์ Weird Weird แบ่งหมวดจาก Visual ที่เห็นซึ่งมีสีดำเยอะ เลยแบ่งเป็นกลุ่มที่  ตัวกุญแจมีหัวดำ

กิจกรรมกลุ่มที่ 3

กิจกรรมสุดท้ายก่อนพัก เกลี่ยการ์ดให้ทั่ว มีคำ 4 คำให้สุ่มว่ากลุ่มไหนจะได้คำอะไร หลังจากนั้นเลือกกุญแจเพียงแค่ดอกเดียว ทวิสต์คำอธิบายให้คำอธิบายนั้นของเกี่ยวกับคำที่ได้ไป

  • เก๋าเก๋า ได้คำว่า ไม่มีมาก่อน เลือกกุญแจสีดำที่มียี่ห้อเขียนว่า AAA และให้คำอธิบายว่า เหมือนในนิทาน เหมือนกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่ AAA ไม่มีอะไรมาก่อนหน้า
  • ดีไซน์ Weird Weird ได้คำว่า นิพพาน เหมือนไม้กางเขน

เจ้าของบ้าน ได้คำว่า Nonsense จุดประสงค์ปกติของกุญแจคือการล็อกเพื่อความปลอดภัย แต่ว่ากุญแจของประตูเหล็กยึดที่ใช้ตามตึกแถว กลับสามารถไขได้ทุกบ้าน ซึ่งดูไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

กิจกรรมครึ่งหลัง

ระหว่างที่ทุกคนกำลังไปพัก ทีม PS+D ช่วยกันนำกระดาษที่มีลายแอบสแตรคมาวางบนโต๊ะ พร้อมกับนำกุญแจของจริงที่อยู่ในการ์ดวางกระจายกันบนกระดาษเหล่านั้น อาจารย์ติ๊กเริ่มการอธิบายว่า การนำของจริงมาวางเป็นข้อมูลชุดใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้รู้ถึงลักษณะ กระดาษบนโต๊ะที่มีกราฟฟิคเป็นแผนที่ เสมือนคำในกิจกรรมก่อนหน้าที่เป็นคีย์เวิร์ด จากแผนที่ที่แต่ละกลุ่มได้รับ อยากให้แต่ละทีมแต่งเรื่องขึ้นมาจากแผนที่ที่ได้รับว่าแทนค่าเป็นอะไรได้บ้าง ใช้กุญแจได้แค่ 15 ดอก กุญแจบางดอกเป็น Key Character, Key Place, Key Object หรือแกุญแจแต่ละอันสลับบทบาทกันได้ สามารถวาดเติมลงไปบนกระดาษเพื่อเติมเรื่องราวได้ เนื้อเรื่องสามารถเป็นแค่โครงสร้างสามส่วนตามปกติ; เปิดเรื่อง, ดำเนินเรื่อง, ปิดเรื่อง ภายใน 30 นาที จบด้วยการพรีเซนต์เนื้อเรื่องพร้อมกับแผนที่

.

เก๋าเก๋า

เล่าเป็นธีมเวลา มีสี 3 โทน ปัจจุบัน อดีต อนาคต เริ่มจากในวันฝนตก มีชายหนุ่มคนนึงฟเดินมาที่หลุมศพ นำดอกไม้มาวางแล้วร้องไห้ กำลังจะเดินกลับบ้านที่โรงเรียน มีลุงประหลาดเดินมาบอกว่า ”อยากจะแก้ไขอดีตไหมเยติ”

“ผมชื่อเยลแล้ว” ชายหนุ่มตอบกลับ

ลุงคือผู้หมวดเรย์ตั้น เยลบอกมีเรื่องหนึ่งติดอยู่ในใจเขา ทั้งคู่จึงเดินทางข้ามเวลาไปที่อดีตตอนเที่เขายังเป็นเด็ก เขากับเพื่อนสนิทกำลังเล่นที่สวนสาธารณะ ฆาตรกรปริศนาฆ่าเพื่อนสนิทของเขาไป ความวุ่นวายปะทุและคนร้ายฉวยโอกาสหนีไปได้

กลับมาที่เยลวัยหนุ่มและผู้หมวด ในตอนนั้นเยลเจอผู้หมวดตอนที่ยังเป็นเพียงสารวัตที่มาดูแลคดี แต่ในครั้งนี้ที่ย้อนเวลากลับมาเยลทำการขัดขวางฆาตรกร “ทำไมลุงรอยัลฆ่าคน” เยลถาม รอยัลรับไม่ได้ที่เด็กรุ่นใหม่จะมาแทนที่ และในที่สุดเยลก็ขัดขวางได้สำเร็จ ลุงรอยัลเข้าตาราง แล้วเยลก็กลับไปปัจจุบัน ไปปิคนิคที่สวนสาธารณะกับเพื่อสนิท

เป็นกลุ่มที่แคสติ้งกุญแจให้เป็นนักแสดงได้เป๊ะมาก แทนค่ากุญแจไซส์เล็กเป็นยุคอดีต และกุญแจทรงเดียวกันที่ขนาดใหญ่กว่าเป็นวันผู้ใหญ่

เจ้าของบ้าน

เริ่มต้นที่ชาวบ้าน (กุญแจที่ย้ายถิ่นฐานมาจากกลุ่มเก๋าเก๋า) ที่พยายามจะไขบ้านแต่ไขไม่ได้ จึงรู้สึกเสียใจมาก เกิดเป็นกุญแจทำไมไขไม่ได้ เขาออกเดินทางหาวิธีไขบ้าน ไปเจอคฤหาสน์ลองเข้าบ้านไปเจอของมากมายแต่กลับรู้สึกไม่สวยเหมือนเขา เลยออกเดินทางต่อ ต่อมาเจอโบสถ์กับกลุ่มกุญแจที่กำลังจะเข้าโบสถ์ พวกเขาเหล่านั้นชวนเข้าโบสถ์แต่ว่าก็ยังไขเข้าไปไม่ได้ น้องกุญแจจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าชั้นเป็นกุญแจรึเปล่า เกิดอาการเศร้าจึง ไปนั่งกินเบียร์ริมน้ำ ได้ยินเสียงสตาร์ทรถ เจอกุญแจรถทันใดนั้นก็เกิดการบรรลุว่าไขเข้ารถก็ได้นี่นา เลยสงสัยว่าตัวเองเป็นกุญแจรถหรือไม่ แต่ว่าก็ไม่ใช่ จึงไปเดินเตร็ดเตร่ในเมือง พบกุญแจที่ไขเข้าได้หมด สิ่งหนึ่งจึงตระหนักขึ้นในใจเขาว่ากุญแจมันแตกต่างกันนี่หว่า สุดท้ายเจอกุญแจไขล็อกเกอร์ที่ไขไม่ได้สักที แต่ปรากฏตัวเขาจึงไขเข้าได้และค้นพบว่าแท้จริงตัวเองเป็นกุญแจไขล็อกเกอร์

ดีไซน์ Weird Weird

ครอบครัวกุญแจชาวนาพ่อแม่ลูกอาศัยอยู่ต่างจังหวัดไม่ค่อยมีเงิน ทั้งชีวิตไม่ได้ออกไปไหนไกล วันหนึ่งอยากเป็นคนกรุง มองไปที่คนกรุง เห็นรถติดในวงเวียนมากมาย ชีวิตผ่อนบ้านผ่อนรถสร้างห่วงติดคออยู่ในลูปของวงเวียน อยากเกิดเป็นคนรวย มองไปที่คนรวยเกิดมาบนกองเงินกองทอง ทำไรก็ได้แต่กุญแจเหล่านี้ล้วนฝันลึก ๆ อยากมีสวนมีที่นา ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ สามมุมนี้เข้ากับประโยคหนึ่ง The grass is always greener than the other side of the fence กลุ่มดีไซน์ Weird Weird จึงสรุปเรื่องราวทั้งหมดว่าเรามีเท่านี้ทำให้แต่ละวันดีที่สุด จะพัฒนาหรือพอใจก็เดินตามทางตนเองต่อไป

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังกิจกรรม

กิจกรรมทั้งหมดทำให้เราตระหนักได้ว่าการจัดกลุ่มไม่ได้ต้องนั่งแยกหรือมีเป้าหมายในการใช้ว่าเพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่ง กิจกรรมครึ่งแรกเราปลดล็อกตัวเอง สลายสิ่งที่ยึดติดเดิม สำรวจนิสัยมัน กิจกรรมครึ่งหลังเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ เรารู้จักกุญแจในมิติต่าง ๆ เลยเห็นความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ไปด้วยและพามาเชื่อมโยงกัน  แผนที่กราฟฟิกเป็นเงื่อนไขหลักแต่ในทางกลับกันการที่แผนที่นี้แอบสแตรคทำให้ผู้เรียนสามารถแทรกเรื่องราวเข้าไปได้ เชื่อมกันด้วยรูปทรงเรียบง่ายได้ แม้ใจความของมันจะไม่มีความชัดเจนก็ตาม เราก่อสร้างความหมายเข้ากับกายภาพร่วมได้ เช่นพื้นที่วงเวียนที่ถูกเปรียบเป็นวงจร หากย้อนกลับในช่วงต้นคลาสสิ่งนี้คือทักษะการเชื่อมโยง Classification 

กลุ่มดีไซน์ Weird Weird ชัดมาก เปรียบเปรยแต่ละส่วนเป็นชนชั้นของคน กลุ่มเจ้าของบ้านชัดเจนเช่นเดียวกันแต่ในเชิงหน้าที่ใส่ปรัชญาชีวิตเข้าไป กลุ่มเก๋าเก๋ามองเป็นเวลา คิดถึงเส้นสายพื้นที่เชปให้มีมิติที่ทับซ้อนมากขึ้นจนเกิดเป็นเรื่องราวสมมติได้

  • ไอเดียเกิดจาก 3 i
    • Insight รู้ลึก
    • Imagination มีจินตนาการ 
    • Intuition สัญชาตญาณที่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เกิดจากการปฏิบัติบ่อยครั้ง

เมื่อรวมกันเราจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดสิ่งใหม่จึงต้องมีฐานคิดสิ่งเก่าอย่างเข้มข้น สิ่งที่ทุกคนคิดในวันนี้ อาจดูไม่แน่ใจว่าจะประยุกต์อย่างไร แต่อย่างน้อยวันนี้ได้เห็นกลไกของไอเดียใหม่ บรรยากาศวงสนทนาของคำว่าใหม่ เก็บเกี่ยวความรู้สึกและประสบการณ์เพื่อให้เกิดความ Unique

  • คุณเบสแลกเปลี่ยนว่า เรามองเห็นเรื่องราวในกุญแจจากดีเทลต่าง ๆ ได้เป็นคนหนึ่งคนเลยเช่นชื่อของตัวละครเขาก็มาจากยี่ห้อหรือตัวอักษรที่สลักอยู่บนกุยแจ
  • คุณส้มแลกเปลี่ยนว่าระหว่างทำกิจกรรม ตนมีไอเดียในหัวจะโยน ๆ ไอเดียลงไปก่อนแล้วพี่ไมเคิลช่วยตบเข้ามา เช่นสิ่งนี้เพื่ออะไรทำไม ตนรู้สึกว่าเชื่อมกับการทำงานออกแบบได้ เวลาทำงานไปนาน ๆ บางทีก็อาจเผลอหลุดบรีฟหรือออกทะเล พี่ไมเคิลช่วยให้สะกิดให้เรากลับมาหมั่นดูบรีฟอยู่เสมอ
  • ทีม PS+D กระบวนการ Categorized เป็นเครื่องมือในการสำรวจตัวเอง บางทีเรามีรูปแบบการใช้ของเครื่องมือที่ถนัด เมื่อเราทำร่วมกับทุก ๆ คนทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่แตกออกไป พร้อมกับเข้าใจตัวเองไปด้วยว่าโดยปกติตัวเราเป็นอย่างไร
  • คุณเบลแลกเปลี่ยนว่าประทับใจกับทุกคน จากตั้งต้นแล้วเชื่อมโยงประมวลผลออกมา ต่างจากตอนที่ทดลองเล่นกันในทีมเมื่อวันก่อนเป็นอย่างมาก
  • คุณแค๊ทแลกเปลี่ยนว่าตนไม่กล้าออกไอเดีย แต่เริ่มจากรับฟังแล้วฟังเส้นเรื่องไปเรื่อย ๆ ก็ช่วยจัดเป็นกลุ่มช่วยคอนเนคทุกอย่างให้ จนเกิดเป็นเนื้อเรื่อง
  • คุณเบสสังเกตว่าแต่ละกลุ่มค่อนข้าง ๆ มีคนประเภทคล้าย ๆ กัน มาอยู่ด้วยกัน อาจารย์ติ๊กอนุมานว่าความคล้ายคลึงอาจเกิดจากตอนเลือกกุญแจเพื่อเลือกกลุ่มทำให้เราเข้าหาคนประเภทเดียวกัน และสร้างธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละกลุ่มที่ต่างกันเช่น กลุ่มแรกเน้นการโยนไอเดีย กลุ่มสองมีคนช่วยเคาะ กลุ่มสามมีคนคอยจดและสรุปไอเดียออกมา

ประยุกต์ใช้เนื้อหาวันนี้อย่างไร

  • หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจในคลาสนี้ อาจารย์ติ๊กยกตัวอย่างว่า สมมติเราเจอปัญหาของผู้เช่าในที่พัก เช่นไม่เก็บขยะภายในห้องหรือทำข้าวของเครื่องใช้พัง เราอาจเริ่มด้วยการมองปัญหาผู้เช่าอย่างยืดหยุ่น ไม่ได้มองเพียงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแต่มองที่แรงจูงใจ หรืออาจใช้ในการแบ่งกลุ่มภาพถ่ายที่เราถ่ายมา ปกติอาจแบ่งจากปี แต่หากเราแบ่งตามธีมบางอย่าง ทริปนั้นก็จะมีความหมายที่แตกต่างออกไป เราจะไม่แบ่งอย่าง Absolute แต่มองอย่าง Dynamic มากขึ้น
  • เวลาซื้อหนังสืออาจารย์ติ๊กเปิดสารบัญเป็นอย่างแรกเพื่อหาว่าผู้เขียนกรุ๊ปเนื้อหาอย่างไร เมื่อเปิดดูบางทีก็รู้เลยว่าเล่มไหน Revise จากมาสเตอร์คนไหนและคนไหนกำลังเสนอสิ่งใหม่ หากเล่มใดกรุ๊ปสารบัญดีมากบางทีเกิดปัญญาเข้าใจเนื้อหาในเล่มได้เลย บางเล่มเนื้อหาสมาชิกเดิมเพียงแค่ตั้งชื่อกรุ๊ปใหม่ก็เชื่อมโยงกับความรู้เล่มอื่นที่เคยอ่านได้เลย การไฮไลท์เองก็เป็นการแบ่งกลุ่มสิ่งที่สำคัญ อย่างเนื้อหาในเอกสารการเรียนอาจารย์ติ๊กแบ่ง 2 แบบ เนื้อหาที่อ้างคนอื่น กับ เนื้อหาที่คิดเอง หากลองแบ่งเนื้อหาในหนังสือ คุณจะเข้าใจความคิดผู้เขียนมากขึ้นว่าเขามองโลกอย่างไร เป็นการเปิดโหมดให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่กว้างขึ้น

บันทึกเล็กน้อยจาก Note Takers

จากที่ร่วมสังเกตุการณ์ในคลาสนี้ เมื่อนึกถึงการแยกของเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่พอจะนึกได้คงเป็นการจัดของในบ้านซึ่งหลายคนอาจทำได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้วโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม อยากชวนผู้อ่านที่ตามอ่านโน๊ตมาลองทบทวนถึงข้อบกพร่องของการจัดของในบ้านเช่นบางอย่างยังมีของบางชิ้นหยิบไม่สะดวก หรือมีลิ้นชักที่พยายามจะจัดแต่สุดท้ายเมื่อมีของไม่เข้าพวกก็ถูกมาเก็บรวมในที่เดียวกัน ชวนให้ทุกท่านได้ลองรื้อลิ้นชักมาประยุกต์ใช้โจทย์จากในโน๊ตนี้เพื่อแบ่งหมวดของใช้ในการดู จินตนาการไปถึงการแบ่งในแบบที่ต่างออกไปจากเดิมมาก อาจได้พบเรื่องราวหรือไอเดียการจัดเก็บที่ตอบความต้องการตัวเองมากขึ้น

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG