ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN

USE FOR EveryONE-O-ONE COURSE 2024,
PRACTICAL school of design
สันติ ลอรัชวี เรียบเรียง

กายวิภาคของความคิด และอิกคิวซัง

หากใครเห็นด้วยว่าการออกแบบเป็นกระบวนการทางความคิด
ก็อาจสงสัยว่าการคิดนั้นมีกระบวนการเป็นอย่างไร
ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางเผยแพร่ออกมามากมาย
ให้เราได้เลือกสรรวิธีที่เหมาะกับธรรมชาติของเรา
เหมาะกับกาละเทศะ และเหมาะกับเป้าหมาย

บทเรียบเรียงนี้มีประโยชน์ต่อนักออกแบบ
โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกระบวนการคิด
ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันกับเรื่องอื่นๆ ได้
ตราบใดที่นักออกแบบยังต้องคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ

สมัยเริ่มเป็นอาจารย์ใหม่ๆ
ผมพบแผนภูมิหนึ่งจากหนังสือในห้องสมุด ถ่ายเอกสารเก็บไว้
จดบันทึกสารสำคัญ และยังคงกลับมาดูมันอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
สิ่งหนึ่งที่พบว่าเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการคิด
คือ การมีหลักในการทำความเข้าใจต่อประเด็นต่างๆ
ที่เคยทำ เคยรับรู้ และเคยสับสนมาตลอด เช่น
เราควรมีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไร
เราควรมีลำดับความคิดอย่างไร
ถ้าคิดรูปแบบสุดท้ายออกมาก่อนจะผิดมั้ย
บางทีพยายามทำงานตามลำดับจากแนวคิดไปหารูปแบบ
กลับอึดอัดคิดไม่ออก ฯลฯ
แน่นอนว่ามันเป็นการย้อนกลับมาทำความเข้าใจ
สิ่งที่เราทำไปโดยสัญชาตญาณ
และก็เริ่มมองเห็นแบบแผนบางอย่างในการคิดของตัวเอง

โอกาสนี้จึงนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ณ ที่นี้

±

จากหนังสือ The Design Concept ของ Allen Hurlburt ได้นำเสนอไดอะแกรมเรียกว่า Anatomy of the mind เป็นการแสดงกระบวนการสร้างสรรค์ไว้เป็น 4 ขั้นตอน ที่อ้างอิงกับทฤษฎีของนักจิตวิเคราะห์คนสำคัญอย่าง Sigmund Freud ที่จัดระดับของจิตสำนึกออกเป็น 3 ระดับ โดยจัดวางขั้นตอนทั้งสี่ไว้บนขั้ว Intellectual Process และ Emotional Response อีกด้วย การกลับมาทำความเข้าใจสิ่งที่ได้อธิบายไว้ในหนังสือทำให้ผมได้เห็นภาพย้อนกลับแบบสโลโมชั่นของกระบวนการออกแบบที่ผ่านมาได้เข้าใจมากขึ้น ทำให้พบว่าในกระบวนการสร้างสรรค์นั้น มีการผสมผสานทั้งความคิดด้วยหลักการเหตุผลรวมกับสัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึกไว้ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้แยกเป็นขั้วตรงข้ามดั่งที่เราคิดกันตอนทำงานใหม่ๆ แนวทางต่างๆ ไม่ได้แยกกันอย่างเบ็ดเสร็จขนาดนั้น หากแต่มันเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนจังหวะสลับขั้นตอนให้เหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ ตลอดกระบวนการเลยทีเดียว รวมถึงมันไม่ได้เป็นเหมือนกระบวนการที่มุ่งแต่เดินไป ข้างหน้าอย่างเดียว แต่มันต้องการการวนย้อนกลับเป็นรอบย่อยๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนการเย็บแบบด้นถอยหลังอีกด้วย

หากจะขอลองขยายความตามความคิดของตนเอง คงขอเริ่มจากแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ที่แบ่งจิตของคนเราออกเป็นสามระดับ คือ จิตรู้สำนึก (Conscious) จิตกึ่งรู้สำนึก (Pre-conscious) และ จิตใต้สำนึก (Unconscious) ซึ่งจากแผนภูมิจะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นอยู่ในระดับ concious และ pre-concious เท่านั้น โดยได้แบ่งกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอน จัดวางอยู่กับระดับของจิตทั้ง 2 ระดับดังนี้

1. CONSCIOUS & ANALYSIS

ในระดับจิตรู้สำนึก (Conscious mind)
ถูกจัดวางเป็นขั้นตอนแรกที่เรียกว่าเป็นระดับของการใช้สติปัญญา (Intellectual) โดยกำกับด้วยกิจกรรมการวิเคราะห์ (Analysis) เคียงคู่ลงไปด้วย โดยจะเห็นว่าการรับข้อมูลทั้งหลายควรจะเกิดขึ้นในระดับจิตรู้สำนึก เนื่องจากการทำความเข้าใจข้อมูล วิเคราะห์โจทย์-ปัญหาต่างๆ จะต้องอาศัยภาวะที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร อารมณ์เป็นเช่นไร หรือต้องการอะไร ที่สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริงตามเหตุและผล เป็นระดับที่เราจะทำความเข้าใจ วิเคราะห์และวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

KNOWLEDGE = NEW INFORMATION + WHAT WE ALREADY KNOW

มาถึงตรงนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า…
“เราจะทำอย่างไรที่จะขยับขยายความรู้ของเราจากข้อมูลที่ได้ค้นคว้ามาเพิ่มเติม?” ปัญหานี้เกิดตั้งแต่ในชั้นเรียนมาจนถึงชีวิตการทำงานเลยทีเดียว เมื่อครูให้นักศึกษาได้ค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับทำงานมา นักศึกษาไม่น้อยที่หอบเอาสำเนาเอกสาร หนังสืออ้างอิง มานำเสนองานเป็นตั้งๆ ซึ่งสุดท้ายก็มักจะต้องหอบกลับไปพร้อมกับถูกขอให้ย่อยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญมา… ในโลกที่อยากรู้อะไรก็ถามChat GPT ทำให้นิยามของคำว่าความรู้ถูกกระชับพื้นที่เข้ามาอีก ความรู้ที่เรียกกันเพื่อถาม-ตอบในเกมโชว์อาจไม่เกิดประโยชน์มากนักในโลกนอกจอโทรทัศน์ ข้อมูลมากมายมหาศาลในอินเทอร์เนตจะกลายเป็นของเหลือใช้หากเราไม่สามารถคัดสรรออกมาได้ว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์ต่อเรา ความรู้รอบตัวทั้งหลายเป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกที่อ่านออกเขียนได้สามารถเข้าถึงได้เท่ากัน ดังนั้นการวิเคราะห์และพิจารณาข้อมูลดิบทั้งหลายจนเกิดมุมมองความคิดเห็นจึงกลายเป็นสิ่งที่จะทำให้ข้อมูลดิบ (data) กลายเป็นข้อมูล (information) และข้อมูลกลายเป็นความรู้ (knowledge) ในที่สุด อาจกล่าวได้ว่า “ความรู้” เกิดจากการนำเอาข้อมูลใหม่ที่ได้รับผสมลงไปกับสิ่งที่เรามีความรู้เดิมอยู่แล้ว “ส่วนผสม”ใหม่นั่นเองที่ได้กลายเป็นชุดความรู้ใหม่ของเรา ดังนั้นการที่เราจะวิเคราะห์หรือทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ “ต้นทุนเดิม” จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเช่นกัน เราลองถามตัวเองดูกันอีกทีว่า “เรามีต้นทุนที่ดีพอที่จะเบลนด์เข้ากับข้อมูลที่รับเพิ่มเข้ามา แล้วทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจได้หรือไม่?”

2. PRE-CONSCIOUS & INCUBATION

เมื่อผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์หรือระดับสติปัญญามาแล้ว ต่อไปจะเข้าสู่การตกตะกอนทาง (Incubation) ความคิด นักจิตวิทยาเรียกกระบวนการ “incubation” ว่า “การบ่มเพาะ” คือการปล่อยให้สมองมีโอกาสอยู่นิ่งๆ ละสิ่งที่ต้องการคิดไว้ก่อน ให้สมองได้พักผ่อน มีโอกาสบ่มฟักตัว เพื่อรอจังหวะผลิบานออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ อธิบายได้อีกว่าเวลาเรามุ่งมั่นตั้งใจคิดอะไรสักอย่าง เมื่อคิดไปสักพักจะเริ่มติดกับดักความคิดเดิมๆ มุมเก่าๆ สมองเริ่มล้าและถูกตีกรอบไว้ จึงได้แต่คิดวนเวียนในช่องทางเดิม แต่ถ้าได้หยุดพักจากการคิดเรื่องนั้นๆ เพื่อไปทำภารกิจอื่นใด จนสมองได้เริ่มใหม่ จะลื่นไหลมากขึ้น ยิ่งได้พักไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเดิมหรือเรื่องที่ไม่ต้องใช้พลังทางการคิดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นพักไปจัดโต๊ะทำงาน ล้างห้องน้ำ ทำอาหาร อาบน้ำ ยิ่งทำให้สมองได้พัก เมื่อกลับมาคิดใหม่จะทำให้แจ่มใสให้มุมใหม่ๆ ได้อีก เนื่องจากมนุษย์มีระบบจิตกึ่งรู้สำนึก (Preconcious Mind) ที่ทำงานโดยเราไม่แม้รู้ตัว

ซึ่งการทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น ผมมักเรียกมันเล่นๆ ว่า “การเปิดเครื่องเดินเบา” มันเป็นการเชื่อใจสมองของเราว่ายังทำงานอยู่ แม้เราไปพักทำสิ่งอื่นใด แต่สมองไม่เคยอู้งาน สมองรับรู้ว่ายังต้องทำต่อ จึงแอบซุ่มเรียบเรียงสานความคิดไปพลางๆ แม้ในช่วงเวลาว่างที่เราพัก เมื่อเราเชื่อใจว่ากระบวนการยังดำเนินไปในขณะที่เราละความสนใจไปชั่วคราว จะช่วยทำให้ความเครียดเราลดลงไปด้วย แต่การเดินเครื่องลักษณะนี้จะต้องมีเชื้อเพลิงเช่นกัน นั่นก็คือการทำความเข้าใจต่อข้อมูลพื้นฐานของสิ่งที่เรากำลังคิดไปแล้วนั่นเอง เพื่อเป็นวัตถุดิบให้สมองเราแอบเอาไปทำต่อได้ อาจถือว่าเป็นกระบวนการลักษณะ “อุปมาน” (inductive) คือเป็นวิธีการค้นหาความคิดจากข้อเท็จจริงย่อยๆ โดยพิจารณาสิ่งที่เหมือนกัน ต่างกัน สัมพันธ์กัน เพื่อให้ได้ความน่าจะเป็นบางอย่างขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นในระดับจิตกึ่งรู้สำนึก (Pre-conscious mind) สรุปง่ายคือในระดับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงย่อยและตกตะกอนเพื่อให้เกิดความคิดบางอย่างขึ้นมานั่นเอง บางท่านจึงมีคำแนะนำว่า “เมื่อคิดไม่ออก ต้องลองไม่คิด” 

(บางส่วนเรียบเรียงจากบทความ “คิดได้โดยไม่คิด” เขียนโดย พอใจ พุกกะคุปต์ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/569241 )

3. Pre-conscious & Inspiration

ขั้นตอนที่สามนี้ยังอยู่ในระดับจิตกึ่งรู้สำนึก แต่กำลังผ่านการใช้สัญชาตญาณ (Intuition) เพื่อขึ้นสู่ระดับจิตรู้สำนึกอีกครั้ง ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “แรงบันดาลใจ” (Inspiration)

(Insight + Imagination + Intuition) = Inspiration
“แรงบันดาลใจ” คำๆ นี้ถูกเรียกใช้อย่างสม่ำเสมอในทุกระดับจนกลายเป็นคำที่จับต้องไม่ได้ นักศึกษาและนักออกแบบหลายคนใช้คำนี้แทบไม่ต่างจากคำว่า “ชื่นชอบ” หรือ “มีความสนใจ” จากหนังสือนี้อาจทำให้เรามองคำว่า “แรงบันดาลใจ” กันให้ชัดเจนและละเอียดขึ้นได้ ในหนังสือเล่มนี้เสนอว่าการเกิดแรงบันดาลใจนั้นเป็นผลรวมมาจาก 3i นั่นคือ insight (รู้จริง) Imagination (จินตนาการ) และ Intuition (สัญชาตญาณ) เป็นผลรวมที่เกิดด้วยการใช้เหตุผลจนสามารถสังเคราะห์ความคิดใหม่ขึ้นมาได้

จึงหมายถึงการเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ จากความชื่นชอบหรือหลงใหลในสิ่งนั้นๆ ความชื่นชอบอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมความลึกซึ้ง (insight) ในเรื่องที่ชื่นชอบ เมื่อมีความรู้จริงต่อเรื่องใดแล้วก็ย่อมพาไปสู่ “กิจกรรมทางความคิด” ต่อเรื่องนั้นได้กว้างขวางจนทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะเรียกให้สวยหรูว่า “จินตนาการ” ก็ได้ 

คำว่าจินตนาการถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย บ่อยครั้งที่ไปผูกติดอยู่กับการเป็นความสามารถพิเศษหรือพรสวรรค์เฉพาะบุคคล  รวมไปถึงการมองว่ามันเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแบบหยั่งรู้มากกว่าเป็นผลของการเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ จนทำให้เราพลอยหลับตาพริ้มทุกครั้งที่จินตนาการถึงอะไรซักอย่าง หากลองจินตนาการกันดูว่าเราสามารถจินตนาการถึงอะไรสักอย่างจากความว่างเปล่าได้หรือไม่ ท้ายที่สุดแล้วการจินตนาการยังคงต้องการต้นทุนที่ต้องนำมาต่อยอดอยู่ดี ดังนั้นผู้ที่มีความรู้จริงลึกซึ้งย่อมจะมีโอกาสหรือความสามารถที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ของทางเลือกของสถานการณ์หนึ่งได้มากกว่า นั่นอาจเรียกได้ว่ามีจินตนาการนั่นเอง จินตนาการกับความรู้จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่อยู่คนละขั้ว และอาจไม่มีอะไรสำคัญกว่ากัน ดังที่เรานิยมอ้างประโยคดังท่ามกลางกระแสนิยมของการโค้ดคำคม

หากเราสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ของสถานการณ์ได้มากกว่าหนึ่งทาง  ย่อมต้องเกิดการตัดสินใจหรือชั่งน้ำหนักทางเลือกเหล่านั้น การใช้สัญชาตญาณการหยั่งรู้ (Intuition) จึงกลายเป็นสิ่งที่มาขับเคลื่อนการตัดสินใจนั้น ในที่นี้แราอาจต้องแยกแยะสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ (Instinct) ออกก่อน สัญชาตญาณพื้นฐานนี้สามารถกระทำ รับรู้ และตอบสนองต่อบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ต้องมีประสบการณ์มาก่อน เช่น การกระพริบตา การดูดนมของทารก การเคี้ยว ยืนเดินนั่งนอน เป็นต้น แต่สัญชาตญาณการหยั่งรู้ (Intuition) บางทีอาจเรียกว่าการรู้เอง เป็นความสามารถในการได้ความรู้ โดยไม่ต้องอาศัยการอนุมานหรือการคิดโดยเหตุผล คำภาษาอังกฤษว่า intuition มาจากคำกริยาภาษาละตินว่า intueri ซึ่งแปลว่า “พิจารณา” หรือมาจากคำอังกฤษสมัยกลางว่า “intuit” ซึ่งแปลว่า “พิจารณา, สังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์”

ดังนั้นสัญชาตญาณแบบ intuition นี้จึงเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ต่อสิ่งๆ หนึ่งมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนเกิดความสามารถในการรู้ได้โดยไม่ได้ใช้ความคิดเชิงเหตุผล 

หากมองในกรอบนี้ การมีสัญชาตญาณรู้เองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็น่าจะพัฒนาได้จาดการฝึกฝน เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากทักษะการเล่นกีฬา ทำอาหาร วาดภาพ หรือเล่นดนตรี เป็นต้น เมื่อเราชมการถ่อยทอดกีฦาแล้วเห็นนักกีฬาที่เก่งเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม มีหลายครั้งที่แสดงถึงการใช้สัญชาตญาณได้อย่างน่าทึ่ง เราคงเห็นด้วยว่าจังหวะเหล่านั้นล้วนเป็นปฏิกิริยาตอบสนองออกมาโดยไม่ได้ใช้ความคิดเชิงเหตุผล แต่อย่างที่รู้กันว่าชั่วโมงฝึกฝนและประสบการณ์แข่งขันของนักกีฬาระดับนี้แถบจะนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว 

กลับมาที่กระบวนการสร้างสรรค์… สัญชาตญาณในการคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ผ่านการฝึกฝน การถอดบทเรียน และการสั่งสมประสบการณ์ เช่นเดียวกัน นักออกแบบที่ต้องทำงานประจำอยู่ทุกวันก็เหมือนกับนักกีฬาที่ต้องลงแข่งทุกวันโดยแทบไม่มีวันหยุดพักหรือวันซ้อม ข้อดีก็คือประสบการณ์จริงต่อสิ่งที่ทำจะสะสมอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะละเลยต่อการฝึกฝนเพื่อส่งเสริมจุดแข็ง หรือพัฒนาจุดอ่อนของตนเองให้ดีขึ้น จนสัญชาตญาณของเราแม่นยำและมีประสิทธิภาพต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่าลืมว่าการทำงานออกแบบนั้นไม่เคยเกี่ยวข้องอยู่แค่เรื่องการออกแบบเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ และหลายครั้งเรื่องอื่นๆ นั้นกลับมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสร้างสรรค์มากกว่าความรู้เรื่องออกแบบเสียอีก 

เป็นที่รู้กันว่าโครงการที่นักออกแบบต้องไปเกี่ยวข้องนั้น มีความหลากหลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ การลงทุน เกษตรกรรม ภูมิศาสตร์ อาหาร-เครื่องดื่ม ดนตรี สุขภาพ สถิติ ฯลฯ นักออกแบบจึงควรมีทักษะและสัญชาตญาณในการทำความเข้าใจความรู้สาขาต่างๆ ที่ตนเองจะเข้ามาดำเนินการนอกเหนือความรู้และสัญชาตญาณในการออกแบบเท่านั้น นอกจากจะทำให้กระบวนการสร้างสรรค์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวคิดไดอะแกรมของ Allen Hurlburt แล้ว ผู้ร่วมงานหรือลูกค้าก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อพบว่านักออกแบบสามารถทำเข้าใจเนื้อหาในสิ่งที่กำลังทำได้เป็นอย่างดี มีทักษะ แม้เรื่องนั้นจะอยู่ในขอบเขตที่เราไม่มีความรู้มาก่อน

4. Conscious & Verification

ในที่สุดแล้วในกระบวนการสร้างสรรค์หนึ่งๆ จะมีวัตถุประสงค์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเสนออรรถประโยชน์หรือแก้ปัญหาบางประการ ขั้นตอนที่ 4 ในไดอะแกรมของ Allen Hurlburt จึงเป็นกระบวนการตรวจสอบ (Verification) เพื่อพิสูจน์ว่าความคิดหรือผลลัพธ์ที่ได้เหมาะสมต่อวัตถุประสงค์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องหรือไม่ การย้อนกลับไปตรวจทานกับข้อมูลจากการวิเคราะห์ในขั้นตอนที่ 1 ประกอบกับความรู้และประสบการณ์ของผู้สร้างสรรค์และผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการ จะทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจต่อความคิดหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เป็นโครงการที่มีความซับซ้อนหรือมีความสำคัญสูงมาก กระบวนการนี้อาจรวมไปถึงการทำตัวอย่างหรือแบบจำลองเพื่อเป็นการทดลองใช้งานเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วกลับไปเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการแรกใหม่อีกครั้ง และที่น่าสนใจและควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ การจัดให้กระบวนการนี้อยู่ในสังกัดของ Emotional Response ซึ่งส่วนตัวตีความถึงการให้น้ำหนักกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คน หรือ Stakeholders นอกเหนือจากตรรกะเหตุผลอย่างเดียวเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ตามการออกแบบยังเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การประเมินผลตรวจสอบจึงจำเป็นที่จะต้องควบรวม Mindset หนึ่งไว้ด้วย นั่นก็คือการเอาใจใ่ส่ต่อผู้คน หรือใครจะนึกว่าก็คือการมี Empathy อย่างที่ชอบพูดกัน ก็คงจะได้เช่นกัน

อิคคิวซัง…(ตะโกนเรียก)”
เณรน้อยอิคคิวซังตอบกลับ
คร๊าบผม จะรีบไปไหนๆ พักเดี๋ยวนึงนะครับ

อิกคิวซังพักสักครู่

จากกระบวนการของ Allen Hurlburt ที่กล่าวมา ทำให้ผมมองเห็นความเหมือนคล้ายกับวิธีคิดของเณรน้อยเจ้าปัญญา “อิกคิวซัง” การ์ตูนยอดฮิตที่เคยออกอากาศในทีวีบ้านเราสมัยเด็ก อิกคิวมีปัญหาให้ขบคิดแก้ไขแทบทุกตอน ไฮไลต์ของทุกตอนก็เห็นจะเป็นตอนที่อิกคิวจะ “ใช้หมองนั่งสมาธิ” แล้วก็ลุ้นกันว่าเณรน้อยจะใช้วิธีอะไรแก้ปัญหา แต่หากถอยหลังมองภาพให้เฟรมกว้างขึ้น ก็อาจพอสังเกตเห็น Pattern ของกระบวนการแก้ปัญหาของอิกคิว เริ่มจากมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องจากมาจากชินเนมอนซัง โชกุน หรือท่านเจ้าอาวาส อิกคิวก็จะเริ่มการการสอบถามรายละเอียดที่มาที่ไป และมักจะมีคำถามสำคัญที่คำบอกเล่าเหล่านั้นไม่ได้ให้คำตอบ (Probelm Statement) จากนั้นอิกคิวมักจะเริ่มสำรวจและวิเคราะห์ข้องสงสัยที่ค้างคาใจ ทั้งสอบถามบุคคลอื่นที่น่าจะเกี่ยวข้อง ตรวจสอบที่เกิดเหตุ หรือดันไปสังเกตบางสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวโยงโดยตรง แต่ให้หลักสังเกตในเชิงเปรียบเทียบ ฯลฯ แล้วค่อยถึงจังหวะสำคัญที่จะ “ใช้หมองนั่งสมาธิ” (Incubation & Inspiration) จน “ปิ๊ง” เกิดความคิดดีๆ ที่น่าจะเวิร์ค และสุดท้ายก็นำเอาความคิดนั้นไปแก้ไขหรือตอบโจทย์ปัญหานั้น ซึ่งอิกคิวจำเป็นต้องพิสูจน์สมมติฐานให้ประจักษ์ทุกครั้งไป (Testing & Verification) เมื่อมาถึงตรงนี้อาจเริ่มเห็นด้วยรึเปล่า ว่าระหว่าง Allen Hurlbert กับ อิกคิวซัง มีกระบวนการที่คล้ายกันทีเดียว

แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจจากการ์ตูนเรื่องนี้คือตอนคั่นโฆษณา จะมีภาพอิกคิวกำลังนอนตะแคงพักผ่อนอยู่ แล้วก็มีเสียงตะโกนเรียก “อิคคิวซัง…(ตะโกนเรียก)”  เณรน้อยอิคคิวซังตอบกลับ  “คร๊าบผม จะรีบไปไหนๆ พักเดี๋ยวนึงนะครับ“

ฉากคั่นนี้กลับมีความหมายลึกซึ้งอย่างมาก หากเราทราบที่มาของมัน…

—————

อิคคิวซัง (อิคคิว โซจุน 一休宗純, Ikkyū Sōjun) เกิดเมื่อปี ค.ศ.1394 ที่เมืองเกียวโต เป็นราชบุตรของพระจักรพรรดิโกโคมัตสึ และเจ้าจอมอิโยะ เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ทำให้ท่านและท่านแม่ของท่านต้องออกจากวัง เมื่ออิคคิวซังมีอายุได้ 5 ขวบ ท่านได้ถูกแยกจากแม่และส่งไปบวชที่วัดอังโคะคุจิ เมืองเกียวโต นิกายรินไซเซน เดิม

จริงๆ แล้วตอนเด็ก อิคคิวซังท่านมีชื่อว่า “เซนงิคุมารุ” ต่อมาเมื่อท่านบวชเป็นเณรที่วัดอังโคะคุจิ ท่านได้รับชื่อใหม่ว่า “ชูเค็น” 

ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่วัดไซคินจิ ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ยากจนอยู่กับหลวงพ่อเคนโอ (Ken’o) ที่นี่ชูเคนได้เรียนรู้เซนที่แท้จริง หลวงพ่อเคนโอได้ตั้งชื่อให้ชูเคนใหม่ว่า “โซจุน” ท่านอิคคิวอยู่ที่นี่จนอายุได้ 21 ปี หลวงพ่อเคนโอก็มรณภาพ โซจุนเสียใจเป็นอย่างมากต่อการตายของหลวงพ่อเคนโอ จนถึงขนาดฆ่าตัวตายโดยการเดินลงไปในทะเลสาบบิวะ (Biwa) แต่โชคดีมีคนมาช่วยไว้

หลังจากนั้นโซจุนได้ไปหาหลวงพ่อคะโซ (Kaso) ที่วัดเซนโกอัน (Zenko-an) ซึ่งเป็นสาขาของวัดไดทกกุ ซึ่งเป็นวัดสำคัญในสมัยนั้น วันหนึ่งหลวงพ่อคะโซได้ตั้งปริศนาธรรมให้แก่โซจุน เมื่อโซจุนแก้ปัญหาได้แล้ว หลวงพ่อคะโซพอใจมากและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “อิคคิว”

หลวงพ่อถามอิคคิวว่า… “รู้หรือไม่ว่าคำว่าอิคคิวมีความหมายว่าอย่างไร?”
อิคคิวตอบเป็นกลอนว่า…
“ขอพักสักครู่หนึ่ง
ระหว่างทางจากโลกียะ
ถึงโลกุตตระ
หากฝนจะตกก็ตกเถิด
หากลมจะพัดก็พัดเถิด”


(นาม “อิคคิว” แปลว่า พักสักครู่)

(ที่มา: MThai)
—————

จดจ่ออย่างผ่อนคลาย 

ลองจินตนาการว่าเรากำลังพยายามแก้ปัญหาที่ท้าทายหรือเรียนรู้แนวคิดใหม่ที่ยาก เรามักจะพยายามมีสมาธิกับมันจนกว่าจะพบทางเดินไปข้างหน้าใช่ไหม? 

นอกเหนือจากอิกคิวซังที่เตือนใจเราเสมอว่าให้หมั่นพักสักครู่

ก็ยังมีแนวคิดจากนักการศึกษา Barbara Oakley ที่นำเสนอการคิดแบบ Focus และ แบบ Diffuse การใช้สองวิธีอย่างผสมผสานในการเข้าถึงปัญหาและการเรียนรู้ การคิดแบบ Focus คือมีสมาธิ มีสติ และคาดเดาได้ ในทางตรงกันข้าม การคิดแบบ Diffuse จะผ่อนคลาย โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และอาจส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงที่น่าประหลาดใจ

Focus Thinking
จุดแข็งของการคิดแบบมุ่งเน้นอยู่ที่ความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในลักษณะต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่าเรากำลังใช้การคิดแบบนี้ในระดับหนึ่ง เมื่อเรากำลังอ่านบทความนี้อยู่ และพยายามทำความเข้าใจโมเดลนี้

Diffuse Thinking
การคิดแบบกระจายคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อจิตใจของเราผ่อนคลาย คล้ายการจัดแจงให้มีพื้นที่สำหรับการฝันกลางวันและความคิดฟุ้งซ่าน นั่นคือสิ่งที่หลายๆ คนพลาดหรือให้คุณค่ากับการคิดแบบนี้ต่ำไป เพราะ… แม้ว่าจิตสำนึกของเราจะหยุดจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สมองของเราก็ยังประมวลผล ไตร่ตรอง และคิดต่อไป

แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่เส้นทางที่กำหนด Diffuse Thinking ช่วยให้จิตใต้สำนึกของเราสร้างการเชื่อมโยงที่ไม่คาดคิดระหว่างแนวคิดที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถช่วยให้เราพัฒนาโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมและเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยเข้ากับแนวคิดที่มีอยู่

เรามักจะพบกับการคิดแบบนี้เมื่อคุณไปเดินเล่น อาบน้ำ ขับรถระยะไกลในชนบท หรือเพียงแค่มองออกไปนอกหน้าต่าง

ถ้าเปรียบกระบวนการคิดของเราเป็นสายน้ำจากฝักบัว Focus Thinking จะเป็นหมวดกระแสน้ำแบบ Jet ที่ถูกพุ่งไป ทรงพลัง และมุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวที่คาดเดาได้ ในทางตรงกันข้าม Diffuse Thinking จะเหมือนกับสปริงเกอร์ที่พ่นละอองน้ำไปทุกทิศทาง ปกคลุมพื้นดินมากขึ้นในรูปแบบที่เบากว่าและคาดเดาไม่ได้

แล้วอันไหนดีกว่ากัน? Oakley อธิบายว่าเคล็ดลับไม่ใช่การเลือกระหว่างสองแนวทาง แต่เป็นวงจรระหว่าง Focused และ Diffuse Thinking เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ใช้การ Focus Thinking เพื่อสำรวจอย่างมีเหตุผลและกำหนดปัญหาที่แท้จริงที่มีอยู่อย่างมีสติ จากนั้นปล่อยให้สมองผ่อนคลายเข้าสู่ Diffuse Thinking ปล่อยให้จิตใต้สำนึกประมวลผลและเล่นกับความคิดในหัว และอาจเกิดวิธีแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึงขึ้นมาได้

หลายคนอาจสังเกตเห็นว่าโมเดลนี้มีความคล้ายคลึงกับการคิดเร็วและช้า (Fast and Slow Thinking) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลพื้นฐานเบื้องหลังเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แม้ว่าจะแตกต่างกันมากตามประเด็นและความหมาย แต่โมเดลเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่น การคิดแบบ Focus อาจถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดช้า และการคิดแบบ Diffuse เป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดอย่างรวดเร็ว หลักการคิดทั้งหลายบนโลกจึงเป็นแผนที่ให้เราลองสำรวจว่ารูปแบบใดที่เหมาะกับเราและสถานการณ์ของเรามากกว่า ที่จะยึดถือและแบ่งแยกแนวทางทั้งหลายออกจากกันโดยสิ้นเชิง

ผมนิยมชมชอบคำสอนของอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “ทำเต็มที่แต่ไม่ซีเรียส”
หรือมีหลายคนพูดคล้ายๆ กันว่า “ซีเรียส แต่ไม่เครียด” ดังเห็นได้จากกระแส Seriuosly Hobby ของผู้คน

กระบวนการออกแบบจึงมีจังหวะเหมือนการเคลื่อนไหวที่มีอิสระหากกำกับไปด้วยเป้าหมายปลายทางการเดินทางไปให้ถึงจุดหมายพร้อมๆกับการเต้นรำไปด้วยจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจจังหวะเวลาไหนช้าเวลาไหนเร็วถึงเวลาพักสักครู่รึยังได้เวลาจดจ่อตั้งใจแล้วเอ้า! ให้สมองได้ซุกซนบ้างนะฯลฯคงไม่มีตำราหรือโมเดลไหนให้คำตอบที่ดีที่สุดกับเราแต่ละคนได้นอกจากเราต้องทดลองกล้าแสวงหาด้วยตัวเราเอง

ท้ายนี้ขอกลับมาที่หนังสือ The Design Concept ซึ่งถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2524 นับเป็นเวลา 6 ปี หลังจาก MITS Altair 8800 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลกออกจำหน่าย ในขณะที่โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่มีโอกาสได้รับรู้ (Allen Hurlburt เสียชีวิตใน 2 ปีต่อมาหลังจากตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้)

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 (18 ปีหลังจากหนังสือออก) นำกลับมาทบทวนเพื่อทำความเข้าใจ พัฒนาตนเอง สอนหนังสือตลอดอายุการทำงาน สำหรับผมมันเป็นไดอะแกรมที่ทำให้เราได้กลับได้ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานที่ผ่านมาของตนเอง ให้เราคิดถึงมันแบบแยกส่วนย่อยไปพร้อมๆ กับการมองภาพรวม แต่ละครั้งที่เปิดออกมาเพื่อประกอบการอธิบายให้ลูกศิษย์ฟัง ผมไม่เคยมีความเห็นต่อรายละเอียดต่างๆ เหมือนเดิม การเรียบเรียงบันทึกเพื่อแบ่งปันกับคอร์ส EveryONE-O-ONE ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไดอะแกรมอายุ 40 กว่าปีนี้ยังมอบบทเรียนใหม่ให้ผมได้อีกครั้ง

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG