Introduction to JISPA “SHARE”
ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาไทยร่วมคว้าโอกาสเป็น 1 ใน 200 คนได้แสดงงานที่ National art center, Tokyo กับโครงการประกวดโปสเตอร์นานาชาติจากญี่ปุ่น JISPA นอกจากจะได้เห็นผลงานของนักเรียน นักศึกษาหลายๆ ประเทศแล้ว ชิ้นงานของทุกคนจะได้รับการรวบรวมลงสูจิบัตรและผ่านสายตานักออกแบบชื่อดังทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 กรกฏาคม 2566
สมัครผ่านทาง : https://jagda-gakusei.jp/en/
±
JISPA คืออะไร
JISPA เป็นกิจกรรมสำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่จัดโดย Japan Graphic Designers Association Inc. (JAGDA) ก่อตั้งขึ้นในปี 1978 ภายใต้การนำของ Yusaku Kamekura โดยมีเป้าหมายที่จะปฏิวัติวงการการสื่อสารผ่านพลังของการออกแบบกราฟิกดังต่อไปนี้
- มองอนาคตของการออกแบบกราฟิกและตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ต่างๆ อยู่เสมอ
- สนับสนุนและให้ความสำคัญการออกแบบกราฟิกที่มีต่อการร่วมมือทางสังคม รัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ
- รวบรวมและเผยแพร่งานออกแบบกราฟิกร่วมสมัย
- ส่งเสริมพื้นที่การออกแบบที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อปกป้องสิทธิของนักออกแบบในการทำงาน
- ค้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ๆ และนำเสนอออกไปในระดับนานาชาติ
- รักษาวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและส่งต่อมรดกทางการออกแบบกราฟิกไปยังคนรุ่นถัดไป
- สร้างปฏิสัมพันธ์ของกิจกรรมทางการออกแบบในระดับนานาชาติและขยับขยายมุมมองและขอบเขตของงาน
JISPA จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อค้นหาและให้เกียรตินักออกแบบที่มีความสามารถรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและขยับขยายพื้นที่ของการออกแบบกราฟิกในระดับนานาชาติ เพื่อแบ่งปันและส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันในแต่ละวัฒนธรรมผ่านการออกแบบโปสเตอร์ภายใต้ธีมเดียวกัน โดยธีมที่ผ่านมาได้แก่ Japan (2015), SNS (2016), Food (2017), Hands (2018), Line (2019), Money (2020), Move (2021), Voice (2022) และในปีล่าสุดที่กำลังรับสมัครผลงานคือ Share (2023)
±
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรายการประกวดนี้คือ “ขนาด B1 (728 มม. x 1,030 มม.)” และจะต้องเป็นแนวตั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของโปสเตอร์ที่ใช้กันในประเทศญี่ปุ่น โดยการตัดสิน จะแบ่งออกเป็น 3 รอบได้แก่
รอบแรก: เป็นการตัดสินทางออนไลน์ โดยกรรมการนักออกแบบชาวญี่ปุ่น 5 คน
รอบสอง: เป็นการตัดสินทางออนไลน์โดยกรรมการอีกชุด ซึ่งจะประกอบไปด้วยกรรมการที่เป็นนักออกแบบชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ คัดเลือกให้เหลือโปสเตอร์ที่ผ่านเข้ารอบสองประมาณ 200 ผลงาน
รอบสุดท้าย: เป็นการตัดสินจากผลงานที่เข้ารอบ และทุกชิ้นจะถูกพิมพ์ออกมาในขนาด B1 เพื่อคัดเลือกหาผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลประเภทต่างๆ รวม 403 รางวัล