คิดเป็นภาพ (THINK VISUALLY)
USE FOR EveryONE-O-ONE COURSE 2024,
PRACTICAL school of design
สันติ ลอรัชวี เรียบเรียง
การมองเห็นมาก่อนถ้อยคำ เด็กๆ มองเห็นและจดจำ ก่อนที่จะพูด
Seeing comes before words. The child looks and recognizes before it can speak
— John Berger, Way of seeing : 1973
กล่าวได้ว่าภาษาแรกที่มนุษยชาติใช้ในการสื่อสารกันคือภาษาภาพ ตามที่เราพบได้จากภาพเขียนผนังถ้ำในยุคโบราณ หลังจากนั้นภาพจะถูกใช้ในการออกแบบภาษาเขียนอย่างที่เราเคยได้เห็นในตัวหนังสือโบราณ อักษรเหมือนภาพที่เก่าแก่ที่สุดจึงถือกำเนิดขึ้นอักษรที่โบราณที่สุดเท่าที่พบเห็นในทุกวันนี้คือ ตัวอักษร “เจี่ยกู่เหวิน” ที่ขุดพบจากโบราณสถานยินซวี เมืองอันหยัง มณฑลเหอหนานของจีน สมัยราชวงศ์ยินซาง การที่ได้ชื่อว่า “เจี่ยกู่เหวิน” เพราะว่าตัวอักษรเหล่านี้แกะสลักบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการทำนายในช่วง 270 ปีนับตั้งแต่ระยะหลังของราชวงศ์ซางที่พระเจ้าผานเกิงย้ายราชธาณีไปอยู่ยินไปจนถึงพระเจ้าโจ้ว ซึ่งห่างจากปัจจุบันประมาณ 3,400 ปี ในอักษรเจี่ยกู่เหวินส่วนมากจะเป็นอักษรที่สร้างภาพลายเส้นจากรูปทรงของสิ่งที่กำลังหมายถึง เช่น พระอาทิตย์ ภูเขา หรือแม่น้ำ เป็นต้น
ต่อมามนุษย์จึงมีการพัฒนาอักษรชนิดแทนหน่วยเสียง โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ในอียิปต์โบราณ อักษรแทนหน่วยเสียงชนิดแรกเป็นอักษรไร้สระ โดยชาวเซมิติกในอียิปต์โดยได้รับอิทธิพลจากอักษรที่ใช้แทนเสียงพยัญชนะซึ่งใช้คู่กับอักษรคำในอักษรไฮโรกลิฟฟิก อักษรอื่นๆ ที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่พัฒนามาจากอักษรนี้ จนกระทั่งภาษากลายมาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเรามากที่สุด ทั้งก่อให้เกิดความรู้และประโยชน์มากมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคและปัญหาต่อการทำความเข้าอกเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ดังที่พระคัมภีร์ไบเบิลบทปฐมกาล 11 (Genesis 11) ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า เหตุใดโลกของเราจึงได้มีภาษามากมายหลายหลากจนทำให้ยากในการติดต่อสื่อสารถึงเพียงนี้ และคำตอบนั้นก็คือ แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์เราพูดจาภาษาเดียวกันทั้งหมด และได้พยายามที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่สูงเทียมฟ้าที่ถูกเรียกว่า หอคอยบาเบล (Tower of Babel) ขึ้นมาในนครแห่งหนึ่ง เมื่อมนุษย์สื่อสารด้วยภาษาเดียวกันจึงทำให้พวกเขาเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี มนุษย์จึงสามารถทำได้ทุกสิ่งที่ต้องการ เมื่อพระเจ้าเห็นดังนั้นจึงเข้ามาแทรกแซงด้วยการทำให้มนุษย์พูดกันคนละภาษาเสียเลยในที่สุดมนุษย์ทั้งหลายก็กระจัดกระจายออกไปทั่วแผ่นดินและเลิกล้มความตั้งใจที่จะสร้างเมืองและสิ่งปลูกสร้างสูงเทียมฟ้าไปสิ้น
แม้มนุษย์จะพัฒนาตัวอักษรและภาษาจนเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นต่อชีวิตทุกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เองก็ยังใช้ภาพมาเป็นองค์ประกอบหลักในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ รวมไปถึงการนำมาใช้ในกระบวนการคิด มาตลอดประวัติศาสตร์
± วาด – เขียน
หากยังจำกันได้เมื่อเราเป็นเด็ก พวกเราทุกคนชอบวาดรูป หลายครั้งที่เราสื่อสารกันด้วยรูปวาด เป็นรูปที่ไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัวว่าเด็กต้องจะวาดให้เหมือนจริง ไม่ว่าภาพเหล่านั้นจะสื่อออกมาได้เข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่กลับให้จินตนาการและความทรงจำที่ดีแก่เรา อาจเป็นเพราะสมองของคนเราถูกออกแบบให้จำเป็นภาพมากกว่าจะจำสัญลักษณ์อย่างตัวหนังสือ แต่ขณะที่ภาษาเขียนจะมีความตายตัวว่าจะต้องเขียนแบบนี้ สะกดแบบนี้ จึงทำให้เป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดไปในตัว ขณะที่ภาษาเขียนลดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร แต่ในหลายๆ ครั้ง ลำพังภาษาเขียนก็อาจไม่สามารถสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม หรือสร้างความสนุกสนาน ในการสื่อสารของคนแต่ละคนได้ รูปแบบการสื่อสารโดยใช้คำพูดและตัวหนังสือกลายเป็นกรอบความคิดเดิมๆ ที่ทำให้การสื่อสารและกระบวนการสร้างสรรค์นั้นถูกจำกัดลงได้เช่นกัน
“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ (The eyes are the windows to the soul)”
เป็นสำนวนที่มักใช้เพื่ออธิบายความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งที่รู้สึกเมื่อมองเข้าไปในดวงตาของอีกคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับหน้าต่าง ดวงตาทำงานทั้งสองด้านเช่นกัน มีความสำคัญต่อการที่เรามองโลกรอบตัวเรา (sight) และยังสำคัญต่อการคิด (vision) ของเราด้วยเช่นกัน การมองจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ เนื่องจากช่วยให้เราเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้เราปลอดภัย และช่วยรักษาความคมชัดของความคิดและจิตใจของเรา ดังจะเห็นได้ว่าเรามักพบคำที่เกี่ยวข้องกับการมองที่หมายถึงความคิดหลายคำในภาษาอังกฤษ เช่น persepective, vision, point of view, I see เป็นต้น
± Visual Thinking
การคิดเป็นภาพจึงกลายเป็นทักษะสำคัญที่ PRACTICAL school of design นำมาเป็นประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในคอร์ส EveryONE-O-ONE ที่มีเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาระบบคิดทางการออกแบบได้ง่าย สามารถช่วยในการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ รวมถึงการนำมาใช้ในการนำเสนอความคิดที่เป็นนามธรรมให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น
การคิดด้วยภาพคืออะไร? แผนที่ โลโก้ อีโมติคอน แผ่นพับคำแนะนำประกอบสินค้า
เราทุกคนรับข้อมูลจากรูปภาพนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน
พวกเราหลายๆ คนอาจเคยเป็นเหมือนกัน
เวลาที่เราต้องคิดหนักเมื่อกำลังอธิบาย บางสิ่งที่สลับซับซ้อน
แล้วก็หยิบดินสอมาขีดเขียนบางอย่างออกมา
พอพูดถึงการวาดรูปแล้ว หลายๆ คนก็รู้สึกกลัวหรือไม่มั่นใจที่จะวาดรูป ซึ่งครั้งสุดท้ายที่วาดอาจนานมาแล้ว แต่หากจำกันได้ เราทุกคนน่าจะวาดรูปเล่นกันทุกคนตอนที่ยังเป็นเด็ก แต่เราได้ทิ้งทักษะที่เราเคยมี เคยใช้มันจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ และเคยมีความสุขกับมัน แต่การคิดด้วยภาพเป็นมากกว่าแค่รูปภาพ มันเกี่ยวกับการเดินทางทางความคิดด้วย ภาพเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคิดของเราด้วยเช่นกัน เราทุกคนทำได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินหรือนักออกแบบ การใส่ความคิดของเราลงในภาพวาดง่ายๆ จะทำให้มีความชัดเจนและจุดโฟกัส จนคุณสามารถตัดสินใจว่าอะไรที่สำคัญ อะไรที่คุณต้องแก้ไข และจัดลำดับความสำคัญอย่างไร
การจำลองความคิดออกมาเป็นรูปภาพหรือแผนภูมิง่ายๆ จะช่วยสกัดสิ่งที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ออกมาจากสิ่งที่อยู่ในหัวของเรา และนำออกมาแสดงในที่ที่คนอื่นมองเห็นได้เข้าใจ และยังช่วยให้เรามองดูความคิดตัวเองจากมุมที่ต่างออกไป ทำให้เราง่ายต่อการแก้ไขปรับปรุง หรือเชื่อมโยงต่อไปได้ นำไปสู่มุมมองใหม่ๆ จนเกิดไอเดียดีๆ ที่ไม่เคยคาดคิดถึงมันมาก่อน
When you need to give shape to an abstract concept
make invisible —> visible
and intangible —> tangible
บางทีเรากำลังพยายามแสดงความคิดของเราเป็นภาพ เพราะต้องการให้ความคิดนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้นั้น ให้มองเห็นขึ้นมาได้ จับต้องได้มากขึ้นนั่นเอง เพราะรูปภาพมีพลังที่กระชับชัดเจน มันทำให้เราจดจำประเด็นสำคัญได้ และทำให้ความซับซ้อนง่ายขึ้นต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจ
อาจถึงเวลาแล้ว ที่เราจะกลับไปคิดและสื่อด้วยภาพกันอีกครั้ง
± ลองมาลากเส้น
มีข้อสังเกตุว่าเวลาที่มีความคิดดีๆ หรือมีไอเดียตอนทำงานออกแบบ หลายครั้งเริ่มต้นด้วยการสังเกตุสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบละเอียดมากกว่าแค่การมองผ่านๆ เรามองไปที่แสง-เงา, สี, พื้นผิว, สี, รูปทรง, องค์ประกอบ ความทึบตัน และช่องว่าง
หลายครั้งก็มีการวาดเก็บไว้กันลืม บางอย่างก็วาดได้ให้คล้ายกับที่เห็น หลายอย่างก็วาดให้เราพอเข้าใจว่าต้องการบันทึกอะไร เช่น รูปทรงนี้น่าสนใจ ก็ร่างแต่ outline เก็บไว้ อาจโน้ตเป็นคำหรือข้อความเพิ่มเติมกันลืมเมื่อมาดูภายหลัง บางทีก็เขียนไว้เป็นแผนผังง่ายๆ เพื่อทำความเข้าใจไปด้วย
ว่าแต่ทำไมต้องวาด? ทำไมไม่แค่ถ่ายรูปล่ะ?
จากหนังสือ A bigger message: Conversations with David Hockney โดย Martin Gayford กล่าวว่า
“การวาดภาพทำให้คุณเห็นสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น และยังคงชัดเจนขึ้นไปอีก ภาพกำลังส่งผ่านไปยังคุณในทางสรีรวิทยา เข้าไปในสมองของคุณ ไปยังความทรงจำของคุณ – จากที่ที่มันอยู่ส่งผ่านโดยมือของคุณ”
“การมองเห็นสิ่งต่างๆ” สำหรับฮอคนีย์เป็นมากกว่าการรับข้อมูลภาพธรรมดาๆ มนุษย์เราดำรงอยู่ใน space & time ไปพร้อมๆ กับการมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาเห็น ทั้งทางกายภาพและทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง การพัฒนาสื่อเชิงภาพจากผนังถ้ำที่ Lascaux ไปยัง iPad ไม่ได้เปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานของ Hockney ที่ว่า – เนื่องจากสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ชม
“การพรรณนาจึงเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดเสมอ”
ดังนั้นกระบวนการบันทึกการสังเกตผ่านการวาดภาพไม่เพียงแต่จะเพิ่มพูนทักษะการรับรู้ของเราเท่านั้น แต่ยังพัฒนาความสามารถในการคิดด้วยสายตาอีกด้วย เป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อแสดงความคิดได้
การทำงานผ่านการสเก็ตช์จะทำให้คนๆ หนึ่ง ตระหนักถึงรายละเอียดที่ดีของเรื่องที่กำลังทำหรือกำลังศึกษา เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ โครงสร้างหรือ pattern บางอย่างอาจปรากฏขึ้นโดยที่คุณไม่เคยสังเกตมาก่อน และเมื่อเราตระหนักถึงรายละเอียดและความแตกต่างเล็กน้อยในโลกรอบตัวคุณมากขึ้น เราก็จะสามารถมองเห็นและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้น
“การดรออิ้งจึงเปรียบเหมือนศิลปะในการบันทึกประสบการณ์ต่อสิ่งที่ไม่มีใครไม่เคยพบเห็นมาก่อน (ในแบบของเรา) มันเป็นการพิจารณา บันทึก วิพากษ์ และตอบสนอง ต่อสิ่งที่เป็นทั้งเรื่องธรรมดาสามัญและสิ่งที่ไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างอิสระและสร้างสรรค์”
Drawing is not about accurate representation of reality, but about our perception of it. It’s not about technique. It’s about mindset. But technique helps.
— Linescapes Drawing (Instagram)
± Thinking Maps คิดแผนให้เป็นภาพ
ครั้งหนึ่ง ผมเคยนำเครื่องมือทางการคิดชุดหนึ่งที่ที่มีชื่อว่า Thinking Maps มาแนะนำต่อนักศึกษาปริญโท เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นตัวช่วยในการจัดระเบียบการเรียนรู้ อันหมายรวมตั้งแต่การสำรวจตัวเอง การค้นคว้า การวิเคราะห์ข้อมูล การแสวงหาแนวคิดและไอเดีย จนถึงการสื่อสารและการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ผลที่ออกมาในครั้งนั้นน่าพอใจ ทุกคนสามารถจัดระเบียบในขั้นตอนต่างๆ ได้เป็นระบบอย่างน่าพอใจ แต่ที่มากไปกว่านั้น คือมีนักศึกษาคนหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังหลังเลิกเรียนว่าได้นำเอาวิธีการนี้ไปใช้ในการทำงานด้วย (นักศึกษาคนนั้นทำงานเป็นนักออกแบบในบริษัทแห่งหนึ่ง พร้อมกับเรียนไปด้วย) เขาเล่าว่านำไปใช้ตั้งแต่การคิดงาน ไปจนถึงการนำเสนอต่อเจ้านายและลูกค้า จนได้รับคำชมเชยกลับมาว่าทำงานได้ดีขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้จึงตั้งใจจะมาเล่าให้อาจารย์ฟังว่ามันเวิร์คมาก ผมได้ความคิดว่าเครื่องมือนี้น่าจะเหมาะที่เป็นอาหารเสริมในแต่ละวิชาที่ผมสอน และหลังจากนั้นแทบทุกวิชาที่ผมสอนก็มักจะแนะนำอาหารเสริมทางความคิดนี้กับผู้เรียนเสมอ
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีคนที่รู้จัก Thinking Maps น้อยกว่าที่ผมคาดการณ์มากทีเดียว ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในบ้านเรา มีหลายคนใช้วิธีการนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยรู้ว่ามันมีรายละเอียดและหลักการอย่างไร โอกาสนี้จึงถือโอกาสเรียบเรียงคำอธิบาย Thinking Maps ขึ้นมาใหม่ ด้วยหวังว่าจะสามารถทำให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการงานของแต่ละคนได้
Thinking Maps คือชุดเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยภาพ ซึ่งพัฒนาโดย Dr. David Hyerle ในช่วงทศวรรษ 1980 ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการคิดและการเรียนรู้ภายใต้กรอบทำงาน (framework) ที่มีโครงสร้างการจัดระเบียบความคิดและข้อมูล Thinking Maps ใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการศึกษาและการทำงานสาขาอาชีพต่างๆ อย่างแพร่หลาย
David Hyerle ได้เคยเกริ่นถึง Thinking Maps ว่าเขาสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ แม่ครัว หรือโปรแกรมเมอร์ ก็มักจะมีเครื่องมือเฉพาะทางที่ทำให้เกิดพัฒนาการในการดำเนินการนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะที่เขามองเข้าไปในห้องเรียน เและตั้งคำถามถึงเครื่องมือสำหรับครู เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน ให้ก้าวหน้าจากผู้ฝึกหัดกลายมาเป็นนักคิดที่เชี่ยวชาญ และพัฒนาอุปนิสัยในการคิด*** (habbits of mind) ไปตลอดชีวิต นั้นกลับยังไม่มีเครื่องมือเฉพาะแบบนั้น จากนั้นเดวิดก็ได้พัฒนา Thinking Maps โดยได้เปิดอบรมให้แก่นักเรียน ครู กลุ่มผู้นำ และนักธุรกิจ โดยจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำเสนอรูปแบบการรับรู้ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่ก่อนหน้าได้ ช่วยสร้างแนวคิดและผลลัพธ์ทางการคิด รวมไปถึงก่อให้เกิดอุปนิสัยการคิดอย่างเต็มรูปแบบ โดยแบ่งแผนภาพความคิดออกเป็น 8 รูปแบบ อันมีพื้นฐานอยู่ในกระบวนการรับรู้ขั้นพื้นฐานที่เฉพาะเจาะจง เมื่อใช้ร่วมกันเป็นภาษาภาพแบบเปลี่ยนแปลงไปมาและพึ่งพาซึ่งกันและกัน เครื่องมือนี้จะสนับสนุนการเรียนรู้แบบโต้ตอบ ส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบ และสร้างอุปนิสัยในการคิด* (Habits of Mind) ให้กับเราได้
สมองมีความสามารถรับภาพได้ถึง 36,000 ภาพในทุกนาที จากงานวิจัยประมาณการว่ากว่า 80 ถึง 90% ของข้อมูลที่สมองได้รับจะถูกส่งเข้ามาจากทางดวงตา และแสดงให้เห็นว่าเราแต่ละคนยังคงประมวลผลข้อมูลด้วยการมองเห็นมากกว่าการผ่านด้วยช่องทางอื่นๆ จากข้อเท็จจริงนี้ทำให้เกิดการใช้การมองเห็นเป็นจุดแข็งในการเรียนรู้และคิด พัฒนามาเป็นเครื่องมือภาพสำหรับการประกอบสร้างความรู้ ช่วยเสริมสร้างให้เกิด Metacognition (อภิปัญญา) อันหมายถึงการคิดเกี่ยวกับการคิด มันหมายถึงการรู้ว่าเรารู้อะไร—ไม่รู้อะไร—และเราจะรู้ได้อย่างไร? มันยังหมายถึงการรับรู้และการควบคุมกระบวนการรับรู้ รวมถึงกลไกที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา และยังเป็นกลยุทธ์ให้เราประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้ เครื่องมือที่เป็นภาพช่วยให้เรามองเข้าไปในความคิดของตนเอง เราจะเห็นความคิดของตนเอง สามารถแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับกระบวนการ เนื้อหา และ รูปแบบความคิดที่มีการพัฒนาของเราได้
Thinking Maps ถูกนำเสนอออกมา 8 ประเภท แต่ละประเภทจะแสดงถึงกระบวนการรับรู้หรือรูปแบบการคิดที่มีความเฉพาะแตกต่างกัน ได้แก่ Circle Map / Bubble Map / Double Bubble Map / Tree Map / Flow Map / Multi-flow Map / Brace Map และ Bridge Map โดยอาจเริ่มทำความรู้จักเครื่องมือนี้ ด้วยคำถามสำคัญที่สร้างเสริมทักษะการคิดแบบแผนภาพดังนี้
- Circle Map สำหรับการนิยามหรือกำหนด
ฉันจะให้คำจำกัดความแนวคิดหรือไอเดียภายใต้บริบทนี้อย่างไร? - Bubble map สำหรับอธิบาย
ฉันจะอธิบายสิ่งนี้ได้อย่างไร? - Double Bubble Map สำหรับการเปรียบเทียบ
สิ่งเหล่านี้มีคุณลักษณะที่เหมือนและแตกต่างอย่างไร? - Tree Map สำหรับจัดหมวดหมู่
ฉันจะจัดกลุ่มสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันได้อย่างไร? - Brace map สำหรับการพิจารณาส่วนย่อย/องค์รวม
ชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันมารวมเป็นสิ่งเดียวได้อย่างไร? - Flow map สำหรับการลำดับขั้นตอน
ฉันจะมองเห็นลำดับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร? - Multi-flow Map สำหรับการพิจารณาสาเหตุและผลที่ตามมา
สาเหตุเหล่านี้นำไปสู่สถานการณ์นี้ได้อย่างไร และจะมีผลกระทบอะไรบ้าง? - Brace Map สำหรับการเปรียบเทียบ
ความคิดนี้จะถ่ายโอนไปยังความคิดอื่นได้อย่างไร?
Thinking Maps เป็นเหมือนภาษาสากลที่มีความสามารถในการสะท้อนความคิดของเรา ทั้งการคิดโดยใช้ประสาทสัมผัส การตั้งคำถาม และอุปนิสัยในการคิด สนับสนุนผ่านแปดเครื่องมือที่สัมพันธ์กัน โดยอาจเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกว้างๆ เหล่านี้:
อะไรมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคุณ?
ประสบการณ์และความเชื่ออะไรบ้าง ที่มีอิทธิพลต่อวิธีการรับรู้ข้อมูลนี้ของคุณ?
แหล่งข้อมูลของคุณอยู่ที่ไหน?
คุณจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?
ถ้านี่คือสิ่งที่คุณรู้คือ แล้วอะไรที่คุณไม่รู้ล่ะ?
กรอบคำถามเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้เป็นขอบเขตการตีความ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ เหตุการณ์ปัจจุบัน ความตระหนักรู้เชิงวัฒนธรรม รายละเอียดความขัดแย้ง และหัวข้อใดๆ ที่มีพื้นผิวของมุมมองที่หลากหลาย
CIRCLE MAP
ใช้สำหรับกำหนดบริบท เป็นวงกลมปิดที่เราจะระดมความคิด (idea) หรือแนวคิด (concept) ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ (topic) หรือแก่นกลาง (theme)
Circle Map เป็นเครื่องมือจัดระเบียบเชิงกราฟิกที่ใช้ในการกำหนดแนวคิดหรือแนวคิดหลัก และสำรวจคุณลักษณะต่างๆ ของแนวคิดนั้น เป็นวงกลมปิดที่เราจะระดมความคิด (idea) หรือแนวคิด (concept) ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ (topic) หรือแก่นกลาง (theme)
±
BUBBLE MAP
คล้ายกับ Circle Map แต่ใช้เพื่ออธิบายคุณสมบัติ (qualities) หรือคุณลักษณะ (characteristics) ของหัวข้อเพียงหัวข้อเดียว (single topic) เป็นเครื่องมือง่ายๆ สำหรับการแสดงรายการคุณลักษณะ (for listing attributes)
Bubble Map เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอธิบายลักษณะหรือคุณลักษณะของเรื่องหรือสิ่งของแบบเดียว ซึ่งจะมีโครงสร้างที่เรียบง่ายและกระชับ ใช้ในการเก็บข้อมูลหรือคุณลักษณะที่ต้องการอธิบาย ซึ่งแต่ละ bubble จะเชื่อมต่อกับหัวข้อหลัก
Bubble Map จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจลักษณะหรือคุณลักษณะของเรื่องหรือสิ่งของนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน ลดการขัดแย้งหรือความสับสนของข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ในบทเรียนวิทยาศาสตร์ อาจใช้ Bubble Map เพื่ออธิบายลักษณะของสัตว์ต่างๆ หรือวัตถุทางธรรมชาติ เช่น ลักษณะทางกายภาพลักษณะทางพฤติกรรม หรือคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น
การใช้ Bubble Map ช่วยให้เราสามารถเก็บข้อมูลหรือเข้าใจเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องการภาษาที่ซับซ้อน และช่วยให้กระบวนการคิดเป็นไปอย่างเข้าใจง่าย นอกจากนี้ การใช้แผนภาพยังสามารถสร้างน่าสนใจให้กับกระบวนการค้นคว้าได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบเชิงภาพที่น่าสนใจหรือทำให้สมจริงอีกด้วย
±
DOUBLE BUBBLE MAP
ใช้สำหรับเปรียบเทียบและแสดงข้อแตกต่างระหว่างสองสิ่ง ประกอบด้วย Bubble Map 2 ชุดที่เชื่อมต่อกัน มักใช้หนึ่งแผนผังสำหรับแต่ละหัวข้อที่มีการเปรียบเทียบกัน
Double Bubble Map เป็นหนึ่งในแผนภาพความคิดที่นิยมใช้ในการเปรียบเทียบและตัดสินใจ ใช้ในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบคุณสมบัติ ลักษณะ หรือคุณค่าของสิ่งสองสิ่งที่ต่างกัน Double Bubble Map ช่วยให้เราเห็นความแตกต่างและความเหมือนกันระหว่างสองเรื่อง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในหลายสถานการณ์
± เปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือก เช่น การเปรียบเทียบคุณสมบัติของสินค้าที่ต่างกันเพื่อตัดสินใจซื้อ
± เปรียบเทียบเพื่ออธิบาย เช่น การเปรียบเทียบระบบการเรียนการสอนระหว่าง 2 สาขาวิชา
± เปรียบเทียบเพื่อสำรวจหาความเข้าใจใหม่
เช่น การเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันและอดีตเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลง
±
TREE MAP
ใช้สำหรับจำแนกและจัดหมวดหมู่ข้อมูล เป็นลำดับชั้น โดยหัวข้อหลักจะแตกแขนงออกเป็นหัวข้อย่อย Tree Map เป็นเครื่องมือเชิงกราฟิกที่ใช้ในการจัดหมวดหมู่ (categoriztion) หรือโครงสร้างลำดับชั้น (hierarchically structure) ข้อมูลหรือความคิด มีลักษณะคล้ายกับกิ่งก้านของต้นไม้ โดยมีหัวข้อหลักหรือแนวคิดแสดงผ่านตัวลำต้น และหัวข้อย่อยที่เป็นกิ่งก้านที่แตกแขนงออกมา
การออกแบบมักเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบมากมาย Tree Map เป็นวิธีที่จัดระเบียบองค์ประกอบเหล่านี้ให้เป็นระบบตามลำดับชั้น สามารถใช้กิ่งก้านหลักของแผนผังเพื่อแสดงแนวคิดหรือเป้าหมายการออกแบบที่ครอบคลุม จากนั้นจึงแยกออกเป็นหัวข้อย่อยที่แสดงส่วนประกอบเฉพาะต่างๆ การจัดการเชิงลำดับชั้นนี้จะช่วยให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ และช่วยจัดโครงสร้างในการพัฒนาการออกแบบต่อไป เราสามารถเข้าใจการไหลของข้อมูลหรือการมีปฏิสัมพันธ์ของแต่ละส่วนได้ง่าย เช่น การระบุการขึ้นต่อกัน (dependencies) การเชื่อมต่อ (connections) และช่องว่าง (gaps) ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การออกแบบที่มีโครงสร้างสอดคล้องกันมากขึ้น
±
FLOW MAP
เป็นแผนภาพประเภทหนึ่งที่ใช้แสดงลำดับและการเชื่อมต่อระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการหรือระบบ มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการแสดงการไหลของข้อมูล การดำเนินการ หรือเหตุการณ์จากขั้นตอนหนึ่งไปยังอีกขั้นตอนหนึ่ง
Flow Map จะช่วยแสดงภาพที่ชัดเจนและง่ายต่อกระบวนการหรือเวิร์กโฟลว์ที่ซับซ้อน ช่วยให้เราเข้าใจลำดับขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ การแสดงภาพนี้ช่วยให้ระบุปัญหา ความซ้ำซ้อน หรือปัญหาคอขวดในกระบวนการได้ง่ายขึ้น รวมถึงใช้จัดทำ user journeys ด้วยภาพ ทำให้ทีมเข้าใจง่ายในการทำงานร่วมกัน จนออกแบบโซลูชันที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
±
MULTI-FLOW MAP
Multi-Flow Maps ช่วยให้นักออกแบบสามารถวิเคราะห์ระบบที่ซับซ้อน โดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ด้วยการแสดงความสัมพันธ์เหล่านี้ด้วยภาพ นักออกแบบสามารถเข้าใจพฤติกรรมของระบบได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และระบุพื้นที่ที่เป็นไปได้สำหรับการปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการออกแบบ การระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ Multi-Flow Map ช่วยให้เราติดตามสาเหตุของผลลัพธ์หรือปัญหา ช่วยให้นักออกแบบสามารถจัดการกับปัญหาที่ซ่อนอยู่ได้มากกว่าแค่การรักษาตามอาการ ซึ่งนำไปสู่โซลูชั่นการออกแบบดีขึ้นได้ ยังรวมถึงการใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากการตัดสินใจหรือการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ด้วยการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลระหว่างปัจจัยต่างๆ และผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ เพื่อคาดการณ์และเตรียมรับมือได้ รวมถึงสามารถจำลองฉากทัศน์ต่างๆ และวิเคราะห์ผลลัพธ์ ประกอบการตัดสินใจและพัฒนาแผนฉุกเฉินเพื่อจัดการกับความท้าทายหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น
±
BRACE MAP
เป็นแผนภาพกราฟิกที่ใช้ในการวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของภาพรวม (whole) และทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อย (parts) ต่างๆ โดยทั่วไปจะประกอบด้วยแนวคิดหรือหัวข้อหลักที่เชื่อมโยงแนวคิดหลักเข้ากับองค์ประกอบหรือหัวข้อย่อยต่างๆ
การออกแบบมักเกี่ยวข้องกับระบบที่ซับซ้อนที่ประกอบด้วยส่วนที่เชื่อมต่อถึงกันหลายส่วน Brace Map จะช่วยในการวิเคราะห์โครงสร้างของระบบเหล่านี้โดยแยกย่อยออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ (constituent components) ด้วยการแสดงภาพความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยต่างๆ ทำให้สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่าองค์ประกอบเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร จนประกอบสร้างเป็นภาพรวม (the whole) เช่น การขึ้นต่อกัน ลำดับชั้น หรือการโต้ตอบกัน สิ่งนี้ช่วยให้ระบุได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อส่วนประกอบอื่นๆ และคาดการณ์ผลที่ตามมาได้
±
BRIDGE MAP
เป็นแผนภาพกราฟิกที่ใช้ในการสำรวจเชิงเปรียบเทียบเปรียบเปรยแนวคิด ไอเดีย หรือขอบเขตเรื่องที่แตกต่างกัน ช่วยในการเชื่อมโยงระหว่างหัวเรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน โดยเน้นไปที่การพิจารณาความเหมือนและความแตกต่าง นอกจากการคิดเชิงเหตุผลแล้ว การออกแบบมักใช้การคิดด้วยกรอบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน Bridge Map เป็นวิธีที่สนับสนุนการสำรวจเชิงเปรียบเทียบความคล้ายคลึงระหว่างขอบเขตหรือแนวคิดที่แตกต่างกัน จุดประกายความคิดที่เป็นนวัตกรรม ด้วยการเชื่อมโยงหัวข้อที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน นำไปสู่การแนวทาง หรือมุมมองใหม่ๆ ที่ช่วยยกระดับกระบวนการออกแบบที่สดใหม่และน่าสนใจได้ รวมถึงใช้สื่อสารแนวคิดที่ซับซ้อนในลักษณะที่ชัดเจนและเข้าถึงได้ต่อคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
นอกเหนือจากใช้ทักษะการคิดแผนเป็นภาพในการเรียนรู้และการออกแบบแล้ว การคิดเชิงแผนภาพนี้ยังมีประโยชน์มากมายกับบุคคลทุกวัยในสาขาอาชีพต่างๆ โดยจะจัดเตรียมกรอบคิดและโครงสร้างการจัดระเบียบความคิดและข้อมูล แสดงความสัมพันธ์เป็นภาพ ช่วยให้เข้าใจและมีวิธีเก็บรักษาข้อมูล ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพและสนุกสนานยิ่งขึ้น การคิดเชิงภาพ คือการใช้ภาษาสากลสำหรับการแสดงออกและจัดระเบียบความคิด อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์โดยการสำรวจแนวคิดและความเชื่อมโยงของความคิดย่อยๆ ทั้งหลาย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจน และอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน สมาชิกในทีม ลูกค้า และคนทั่วไปในวงกว้าง ที่สำคัญการคิดเชิงภาพนี้ยังช่วยในกระบวนการแก้ไขปัญหา ช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถวิเคราะห์ปัญหา สร้างวิธีแก้ปัญหา และประเมินประสิทธิผลของตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทุกวัยและทุกภูมิหลัง
±