±PRACTICAL school of design โรงเรียนการออกแบบเพื่อให้ทุกคนเป็นนักออกแบบชีวิตอย่างสร้างสรรค์

โดย IN FOCUS – GroundControl
Photo by GroundControl
เผยแพร่ 24.01.2024
GroundControlTH
https://groundcontrolth.com/blogs/114

ในวันที่โลกของดีไซน์เนอร์เต็มไปด้วยไอเดียทางศิลปะอันแหลมคมและสร้างสรรค์อยู่เสมอ เหล่านักออกแบบแห่ง Practical Design Studio พบว่าความรู้ที่พวกเขามีนั้นไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่ในมิติของการประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่ทักษะการออกแบบที่พวกเขาติดตัวในระดับ DNA นี้ ยังสามารถพาผู้คนไปสู่พรมแดนใหม่แห่งการเรียนรู้เพื่อการดีไซน์ชีวิตตนเองขึ้นมาใหม่อย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ได้

คอลัมน์ IN FOCUS ในครั้งนี้ GroundControl จึงชวน ‘เติร์ก-จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์’ ดีไซน์เนอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง ±PRACTICAL school of design มาพูดคุยถึงโรงเรียนแห่งการออกแบบ ที่ไม่ได้จับนักเรียนมาฝึกฝนให้เป็นนักออกแบบมือฉมัง แต่เป็นการเชิญชวนผู้เรียนจากหลากหลายสาขาอาชีพ มาร่วมดีไซน์ความคิด ลับเหลี่ยมไอเดียให้แหลมคม เพื่อการออกไปสู่มิติใหม่แห่งการเรียนรู้เและพัฒนาตนเอง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียน

Designer & Teacher จากผู้รับ..สู่ผู้ให้

“หลังจากเราเรียนจบจากม.กรุงเทพใหม่ ๆ ก็เข้ามาทำงานกับ PRACTICAL Studio Design ซึ่งเป็นออฟฟิศงานดีไซน์ ตอนนั้นก็เป็นมาตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงาน แล้วมาเป็นพนักงานประจำ ออกไปเรียนต่อ แล้วก็กลับมาทำงานที่เดิมใหม่ (หัวเราะ) ตัว PRACTICAL ก็จะทำงานออกแบบด้าน CI มาหลายอย่าง เช่น ทำให้สมบูรณ์โภชนา หรือ หรือจัดนิทรรศการในชื่อ “I am a Thai graphic designer™ Exhibition”

ซึ่งสมาชิกหลาย ๆ คนในก็มีส่วนร่วมในเรื่องของการศึกษาอยู่ตลอด ไปเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ บ้าง อย่างเราก็ไปเป็นอาจารย์สอนที่ม.รังสิต เราก็จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่บ่อย ๆ มีทำกิจกรรมกับสถาบันดนตรีกัลยานิวัฒนา จัดเวิร์คช็อปที่เกี่ยวข้อง มันก็ทำให้ทีมเราเริ่มเห็นว่าเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และทาง PRACTCIAL เองก็มีความชอบและสนใจในการถ่ายทอดความรู้บางอย่างผ่านกระบวนการ Design Thinking ให้คนทั่วไปนำไปปรับใช้อยู่แล้วด้วย”

ออกแบบโรงเรียน

“จนเมื่อปีที่ผ่านมา พอมันเกิดเรื่อง COVID-19 ขึ้น ก็ทำให้หลายคนต้องหยุดงานหรือต้อง Work from home กันไปหมด ทางทีม PRACTICAL เลยมีโอกาสได้มาคุยกันว่าเราอยากจะทำอะไรกันดี จนมาลงเอยว่าสิ่งที่เรามีสนใจเหมือนกันคืออยากจะถ่ายทอดความรู้ในแง่ของการดีไซน์ออกไปให้คนภายนอก เราก็เลยมาเริ่มเซ็ทตัวแกนกลางของหลักสูตร ±PRACTICAL school of design ขึ้น ลองสร้างคอร์สเรียนและหัวข้อการเรียนหลัก ๆ ไว้ ค่อย ๆ พัฒนาโครงสร้างการเรียนรู้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคอยปรับตัวหลักสูตรให้ความยืดหยุ่นอยู่เรื่อย ๆ”

Everyone, Every Design

“เราใช้คำว่า Everyone, Every Design เป็นสโลแกนของโรงเรียน มันมาจากไอเดียของทีมที่ว่า การดีไซน์หรือการออกแบบมันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน มันไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบในเชิงวิชวลอย่างเดียว แต่การออกแบบมันยังโยงไปเรื่องการออกแบบชีวิต การทำงาน หรือการอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งสมาชิกทีมก็มีพื้นฐานการทำงานดีไซน์อยู่แล้ว เราก็จะใช้ทักษะการออกแบบที่เราใช้ทำงานเป็นอาชีพนี่แหละ มาออกแบบเป็นหลักสูตรสำหรับการสอนและการเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน ซึ่งสิ่งที่ท้าทายพวกเราคือการออกแบบให้คอร์สเรียนต่างๆ นั้น เข้ากับความหลากหลายของผู้ที่จะมาเรียนได้ยังไงมากกว่า”

โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

“การที่เราเรียกตนเองว่า School of Design มันอาจจะสื่อถึงความเป็นโรงเรียน แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่โรงเรียนในเชิงกายภาพ ที่ต้องมีอาคาร มีครู มีนักเรียนชัดเจนขนาดนั้น แต่เรามองว่าโรงเรียนของเราคือพื้นที่แห่งความรู้และการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันมากกว่า คนที่มาร่วมเรียนกับเราก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นนักเรียนอย่างเดียว แต่ก็เป็นครูของเราด้วย บางคนมีไอเดียที่น่าสนใจมาก ๆ หรือบางคนก็มาแชร์สิ่งที่เราเองก็ไม่มีความรู้ เราก็จะพยายามที่จะผลักดันให้เกิดบรรยากาศแห่งความสะดวก ความสบาย เพื่อประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันขึ้นในพื้นที่ของเราให้ได้มากที่สุด”

ออกแบบการเรียนรู้ #1

“คอร์สเรียนแรกเราตั้งชื่อว่า “LESSON LEARN±D” เนื้อหามันคือการถอดบทเรียน ถอดประสบการณ์ของผู้เรียน ซึ่งทีมเชื่อว่าตลอดการเรียนรู้ในชีวิตที่ผ่านมาของทุกคน มันมักจะมี Exercise หรือ Assignment อะไรบางอย่างที่คุณได้มีโอกาสได้ลงมือทำแล้วยังจำเป็นบทเรียนจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสิ่งที่เราอยากรู้คือ บทเรียนนั้นมันช่วยเปลี่ยนคุณหรือพัฒนาคุณไปจากเดิมได้มากน้อยแค่ไหน เราก็จะเก็บบันทึกข้อมูลการถอดบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาคอร์สเรียนต่อไปด้วย”

ออกแบบการเรียนรู้ #2

คอร์สต่อมา ชื่อว่า “CHECK± SHIFT± CHANGE±” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางเราได้ทดลองทำในงาน Bangkok Illustration Fair มาแล้วก่อนหน้านี้ มันเป็นสเต็ปที่เราออกแบบไอเดียไว้ ให้ผู้เรียนมาลอง “Check” กันแบบลงลึกว่า อาชีพที่คุณทำหรือทักษะความสนใจด้านไหนในตนเองที่สามารถพัฒนาให้ดีกว่าเดิม เช่น คุณอาจจะเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ชอบทำงานวาดประกอบ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มากนัก เราจะมาช่วยเช็คดูว่า สิ่งที่คุณทำตอนนี้มันมีโอกาสในการพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง เราจะช่วยแนะนำ เสริมไอเดียว่ามันควรปรับปรุงหรือพัฒนาต่อยอดตรงไหนจากเดิม ซึ่งถ้าสำเร็จ มันจะทำให้งานของคุณมัน “Shift” ยกระดับงานของคุณจากเดิมให้เพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าของงานให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากยกระดับได้ไปเรื่อย ๆ คุณอาจจะไปไกลได้ถึง “Change” ได้เลย ก็คือมองว่าการวาดภาพประกอบของคุณนั้นสามารถประกอบอาชีพ ไม่ทำงานกราฟิกแบบเดิมแล้ว โดยขั้นตอนสุดท้ายนี้ ทีม PRACTICAL เองก็มีประสบการณ์ curate งาน พวกเราก็จะมาช่วยเกลาความคิดอีกทางหนึ่ง

ซึ่งทั้งหมดของคอร์สนี้มันก็จะช่วยให้คุณเห็นว่า งานที่คุณวาดเล่นเฉย ๆ หากมันได้รับการกระบวนการคิด วิเคราะห์ รวมถึงผ่านการคัดเลือก ขัดเกลาที่ดี งานนั้นก็จะสามารถเข้าไปอยู่ในแกลลอรี่ศิลปะได้อย่างไม่เขอะเขินเลย”

ออกแบบการเรียนรู้ #3

“คอร์สที่สามคือ PS±D FUN คำว่า FUN นั้นมาจากคำว่า “Fundamental” ที่หมายถึงพื้นฐาน คอร์สนี้เราจะพูดถึงหลักสูตรขั้นพื้นฐานของการออกแบบต่าง ๆ ว่าในโลกของนักออกแบบ เราใชัทฤษฎีหรือแนวคิดอะไรบ้างในการปรับความคิดและผลิตงานออกแบบ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจไอเดียของโลกแห่งการออกแบบได้ในระดับพื้นฐาน

“Walk Do ±D” ก็จะเป็นคอร์สว่าด้วยการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเดิน ซึ่งเราจะชวนคนออกไปเดินในที่ต่าง ๆ ด้วยกัน เพื่อไปพบเห็นอะไรที่น่าสนใจรอบตัว โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเปิดมุมมองใหม่ ๆ หัดมองเห็น Element ของงานดีไซน์ได้จากสิ่งใกล้ตัว

ส่วน PS±D CO. คอร์สเรียนตัวนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่นักออกแบบมักทำงานร่วมกัน อย่างเช่น การนำผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งพิมพ์มาจัดเวิร์คช็อปร่วมกัน คนที่เข้ามาเรียนก็จะไม่ได้เรียนแค่เรื่องดีไซน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการพิมพ์จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงอีกด้วย อย่างพวกเทคนิคการพิมพ์มันเป็นยังไง คุณทำอาร์ตเวิร์คมาแบบนี้ พอขั้นตอนไปถึงโรงพิมพ์แล้ว หน้าตางานของเราจะออกมาเป็นอย่างไร สามารถขยายขอบเขตของการพิมพ์ได้มากน้อยแค่ไหน โรงพิมพ์มีขั้นตอนการทำงานอย่างไรให้งานที่ออกมาตรงตามที่ดีไซน์เนอร์ต้องการ และก็จะมีการร่วมกับองค์กรด้านการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วยเช่นกันอาจจะมีการนำศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาร่วมเวิร์กช็อประหว่างนักศึกษาออกแบบมือนักออกแบบมืออาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน”

ออกแบบการเรียนรู้ #4

“±PSD CAMP จะไม่ใช่แค่คอร์สเรียนซะทีเดียว แต่จะเป็นกิจกรรมชวนไปแคมป์ปิ้งกัน โดยไอเดียของคอร์สนี้มาจากความคิดที่ว่า ปกติเรามักจะจัดเวิร์คช็อปกันวันเดียว ในวันนั้นเราก็จะได้เจอผู้สอนหรือเพื่อนร่วมชั้นแค่ในชั่วโมงเรียนเท่านั้น แต่ถ้าเกิดเรายกทีมไปต่างจังหวัด ไปใช้เวลาร่วมกันสักวันสองวัน ก็น่าจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองและความรู้ในมิติต่าง ๆ ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนที่ไม่ใช่เรื่องที่คุยกันในห้องเรียน ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ระหว่างสองฝ่ายได้ ในบรรยากาศสบาย ๆ สนุกเฮฮากัน

PS±D CLUB ก็จะเป็นคอร์สที่เราออกแบบให้เกิดความเป็นกลุ่มหรือสโมสร โดยไม่มีข้อกำหนดเรื่องความรู้ อาชีพ หรือทักษะ ขอแค่มีจุดร่วมคือความชอบหรือความสนใจในศิลปะร่วมกัน ทุกคนในคลับล้วนเป็นนัก “สมัครใจเล่น” ที่พร้อมมาร่วมเรียนรู้ ร่วมแชร์ประสบการณ์ทางศิลปะร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ”

เราทุกคนมีความเป็นนักออกแบบในตัว

“ในฐานะนักออกแบบคนหนึ่ง เราเชื่อว่าทุกอย่างในชีวิตสามารถนำการออกแบบไปปรับใช้ได้เสมอ อย่างตอนทำกับข้าว คุณมักจะคอยคิดอยู่เสมอว่า เวลาหั่นพริก หั่นหัวหอม ต้องหั่นขนาดเท่าไหร่ เวลานำไปปรุงอาหาร ต้องใช้ส่วนผสมอะไรบ้าง อะไรทำนองนี้ หรือสมมติว่าถ้าจะออกเดินทางออกจากบ้านไปที่นัดหมาย ในหัวเราก็จะวางแผนเส้นทางแล้ว มันจะเริ่มมีแผนการหลากหลาย แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องการแผนเดินทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง สิ่งที่เราทำพวกนี้มันกำลังบอกว่า เรามักจะวางแผนให้กับสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่เสมอนั่นแหละ บางครั้งเราอาจจะเริ่มเห็นภาพในหัวบ้างแล้วว่าปลายทางมันจะเป็นแบบไหน ที่เหลือคือการทำให้ขั้นตอนระหว่างทางนั้นออกมาตามแผนและมีประสิทธิภาพ แค่เรื่องพวกนี้ก็เกี่ยวข้องกับการออกแบบแล้ว ซึ่ง ±PRACTICAL school of design คือพื้นที่ที่จะให้ทุกคนได้ลองค้นหาความเป็นนักออกแบบที่มีอยู่ในตัวเรา”

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จบสาขาไหน หรือประกอบอาชีพอะไร ก็สามารถมาร่วมเรียน ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะและปลุกพลังความเป็นนักออกแบบที่มีอยู่ในตัวคุณกันได้ที่ Practical School of Design โดยสามารถติดต่อข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและหลักสูตรต่างๆ ของโรงเรียนได้ที่ Practicalschoolofdesign และ 081 254 9355

Realated Content

25 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #10
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #9
18 Jul 2024
EveryOne-O-One (2024) : Class Note #8
08 Jul 2024
ANATOMY OF MIND & IKKYO-SAN
HASHTAG